ถ้าอนุญาตให้ผมแกล้งทำตัวเป็นนักพยากรณ์การสื่อสารของโลก
ผมเชื่อว่าขณะนี้โลกเข้าสู่ยุคที่สองของเรื่องนี้
ยุคที่ 1: ต่างคนต่างอยู่
ประเทศใครประเทศมัน ไม่ต้องคุยกันมากนัก ถึงไม่รู้ภาษาของเขาก็ไม่เป็นไร
ยุคที่ 2: เริ่มคบกับคนต่างชาติ จึงจำเป็นต้องพูดภาษาของเขา (และเขาก็จำเป็นต้องพูดภาษาของเรา) หากสืบสาวประวัติศาสตร์ชาติสยามกันจริง ๆ ภาษาต่างด้าวภาษาแรกที่เราต้องเรียนน่าจะเป็นภาษาขอม ภาษาบาลี หรือภาษาโบราณอะไรทำนองนั้นที่คนไทยยุคนี้อ่านไม่ออก แต่คนไทยยุคนั้นที่เรียนภาษาพวกนี้ น่าจะเรียกได้ว่าโก้เอาการ ถือว่าเป็นคน “เก่งภาษา” และนี่เป็นเหตุผลทางวัฒนธรรมที่เรารับพุทธศาสนามาจากลังกาจึงต้องอ่านภาษาบาลีในพระไตรปิฎกให้ออก
หลังจากนี้ ก็มีภาษาอื่นตามมาเรื่อย ๆ ให้เราต้องเรียน สุดแล้วแต่ว่าเราคบกับใคร เช่น ภาษาจีน จนสุดท้ายที่บูมสุด ๆ
ในยุคนี้ก็คือภาษาอังกฤษ ต้องเรียนให้ได้
ไม่เรียนไม่ได้
ยุคที่ 3: ยุคที่สื่อสารกันได้โดยภาษาไม่เป็นอุปสรรค
ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการเขียน อาจจะเป็นเพราะว่า มีการประดิษฐ์เครื่องมือการแปลที่มีประสิทธิภาพมาก
จนแต่ละชาติสามารถพูดหรือเขียนออกไปด้วยภาษาของตนเอง และก็จะถูกแปลเป็นภาษาที่ชาติอื่นเข้าใจได้ทันที
หรืออาจจะมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากอย่างยิ่ง
ที่ช่วยให้การเรียนภาษาอื่นใช้เวลาและความพยายามเพียงนิดเดียวก็เข้าใจได้ทันที
ยุคนี้โลกจะไร้พรมแดนอย่างแท้จริงเพราะทุกคนในโลกคุยกันรู้เรื่อง
แต่ ณ พ.ศ. นี้ เรายังอยูในยุคที่ 2 และคงจะอีกนานทีเดียวครับกว่าจะถึงยุคที่
3 อาจจะตายแล้วเกิดใหม่อีกประมาณ 3 เที่ยว
เพราะฉะนั้น ในเมื่อยุคนั้นยังมาไม่ถึง เราก็ต้องเรียนภาษาของยุคสมัยโดยไม่มีทางเลี่ยง
เมื่อวานนี้ผมบ่นว่า เราคนไทยโดยเฉลี่ยไม่ค่อยเก่งภาษาอังกฤษอย่างเพื่อนบ้านอาเซียนอีกหลายประเทศ ผมมานั่งคิดดูว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนี้
ในฐานะที่ไม่ใช่นักวิชาการ ผมก็ได้คำตอบตามประสาสามัญชนว่า มี “นิสัย”
3 อย่างที่ขวางทางเก่งอังกฤษของคนไทย คือ
นิสัยที่ 1 – ขี้เกียจเรียนภาษาอังกฤษ:
เราได้อ่านข่าวอยู่บ่อย ๆ ว่า มีรายงานการวิจัยระดับนานาชาติระบุว่า
เด็กไทยอ่อนในวิชานั้นวิชานี้ รวมทั้งวิชาภาษาอังกฤษด้วย คงมีหลายสาเหตุที่ทำให้อ่อนภาษา
และการเกลียดและขี้เกียจเรียนภาษาอังกฤษ น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่ง
นิสัยที่ 2 – เรียนภาษาอังกฤษเพียงเพื่อให้สอบผ่าน: ไม่ได้เรียนให้มีความสามารถ ในการอ่านออก-เขียนได้, ฟังออก-พูดได้, หรือ ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ได้ถูกต้อง-คล่องแคล่ว
นิสัยที่ 3 – ต้องเรียนภาษาอังกฤษกับครูเท่านั้น: พอขาดครู ก็เรียนรู้ด้วยตัวเองไม่เป็น, แม้จะมีอินเทอร์เน็ต ก็ยังไม่มั่นใจถ้าไม่มีครูตัวเป็น ๆ คอยขนาบข้างโต๊ะหรือยืนอยู่หน้าห้อง
ถ้าถามว่า นิสัยทั้ง 3 นี้มันมาจากไหน? ดูแล้วมันน่าจะมาจากหลายสาเหตุ ในที่นี้
ผมคิดว่า คงไม่มีประโยชน์ที่จะไปโทษ ระบบการศึกษา, นักการศึกษา, ครู, หรือ ตัวนักเรียนเอง
ว่าคือตัวการที่สร้างนิสัยเหล่านี้ หรือถ้าใครยืนยันจะหาผู้กระทำผิดให้ใด้
ก็จะกลายเป็นว่า หลายคนจะกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าคือตัวการรายใหญ่ในคดีนี้ จะมีจำเลยเต็มไปหมด
และจำเลยแต่ละคนก็จะแก้ต่างให้ตัวเอง เพราะไม่มีใครยอมที่จะเป็นจำเลยของสังคม ผมถึงบอกว่า เราอย่าไปโทษใครเลยครับ
แต่ผมอยากจะชวนให้มองว่า ถ้า ณ นาทีนี้ ถ้าท่านยังอยู่ในสภาพต่อไปนี้ คือ....
-ยังจำเป็นต้องฝึกภาษาอังกฤษ ไม่ว่าท่านยังเป็นนักเรียน หรือทำงานแล้ว
-อยากให้ลูกหลานของท่านเก่งภาษาอังกฤษ
-มีภาระต้องฝึกให้ลูกศิษย์ หรือ ลูกน้อง ลูกจ้าง พนักงาน ของท่าน
เก่งภาษาอังกฤษ
ท่านจะทำอย่างไร ที่จะแก้ไขนิสัย
3 อย่าง-ที่ขวางทางเก่งอังกฤษ-ที่ติดมาจากโรงเรียน คือ...
-ทำอย่างไรจึงจะรักและขยันเรียนภาษาอังกฤษ
-ทำอย่างไรจึงจะเรียนเพื่อให้
อ่านออก-เขียนได้, ฟังออก-พูดได้, หรือขั้นที่สูงขึ้นไปก็คือ ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ได้ถูกต้อง-คล่องแคล่ว,
ไม่ใช่เรียนเพียงเพื่อสอบผ่าน อันเป็นนิสัยที่ติดค้างมาจากโรงเรียน
-ทำอย่างไรจึงจะเรียนได้โดยไม่ต้องมีครู ในเมื่อยุคนี้โลกทั้งโลกคือห้องเรียน เราจึงต้องเรียนรู้จากคนทั้งโลก
จากครูซึ่งไม่เคยเห็นหน้า
แม้ความสามารถและนิสัยที่จะเรียนแบบนี้เราไม่มีมาจากโรงเรียน ณ วันนี้ เราก็ต้องสร้างมันขึ้นมาให้ได้
สิ่งที่ผมพูดวันนี้อาจจะเป็นนามธรรมเกินไปบ้าง
แต่ผมอยากชวนให้ท่านลองคิดดู
โลกทุกวันนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว และเราอาจจะต้องใช้ วิธีคิด-วิธีทำ ใหม่
ๆ เพื่อแก้ปัญหาเดิม ๆ
นี่เป็นภาระของคนในยุคนี้ ถ้าท่านไม่อยากตกยุค
พิพัฒน์
www.facebook.com/e4thai
www.facebook.com/EnglishforThai
e4thai@live.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น