วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

[2173] หัวใจ 6 คำเพื่อการจำศัพท์:เจอ – จับ - จำ – จด – ท่อง – test

สวัสดีครับ


ถ้าเปรียบทักษะภาษาอังกฤษ ทั้ง 4 ทักษะ คือ ฟัง – พูด – อ่าน – เขียน เหมือนกับการปรุงอาหาร ศัพท์ก็เหมือนเครื่องปรุง (เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ฯลฯ) และ การผูกประโยคก็เหมือนวิธีปรุง

-ไม่มีเครื่องปรุง ก็คงไม่สามารถปรุงเป็นอาหารขึ้นมาได้

-มีเครื่องปรุง  แต่ปรุงไม่เป็น ปรุงเสร็จแล้วก็คงไม่มีคนกิน (เหมือนกับว่า พูดหรือเขียนออกไป โดยผูกประโยคอย่างสับสนวุ่นวาย ก็คงทำให้คนฟังหรือคนอ่านงง)



ผมได้รับคำถามเนือง ๆ ว่าทำอย่างไรจึงจะจำศัพท์ ได้มาก – ได้เร็ว – และได้นาน คำตอบจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมอยู่ที่ 6 คำนี้ ซึ่งผมถือว่า เป็นหัวใจของการจำศัพท์ คือ
เจอ – จับ - จำ – จด – ท่อง –  test
ผมขอว่าไปทีละคำนะครับ

1.เจอ
ศัพท์คำหนึ่ง ๆ ที่เราจะจำ ตามธรรมชาตินั้น มันไม่ได้มาหาเราทีละคำ แต่เราเจอมันพร้อมกับคำอื่น ๆ เป็นวลีหรือประโยค ขณะที่เราอ่านหรือฟังคนอื่นพูด ศัพท์จึงเป็นสิ่งที่บอกเล่าเรื่องราวเมื่อเราอ่าน story, และเป็นสิ่งรายงานข่าวเมื่อเราอ่าน news การเจอศัพท์บ่อย ๆ จากเรื่องราวข่าวสารที่อ่าน และค่อย ๆ รู้ความหมายของศัพท์ทีละน้อย-ทีละคำ  จึงเป็นการรู้ศัพท์ตามธรรมชาติ   ที่ต้องฝึก  ไม่ฝึกไม่ได้  คนที่อ่านน้อย – ฟังน้อย ก็ย่อมรู้ศัพท์น้อยเป็นธรรมดา

2.จับ
เมื่อเรา “เจอ” ศัพท์จากการอ่านและฟัง เราควรจะ “จับ” ศัพท์ให้ได้ด้วยการพูดและเขียน การเจอแล้วไม่จับ ศัพท์ก็มักอยู่กับเราไม่นาน การฝึกจับสามารถทำได้ง่าย ๆ เช่น อาจจะเริ่มต้นด้วยการพูดเปล่งเสียงคำศัพท์และอ่านประโยคที่มีศัพท์คำนั้น ออกมาดัง ๆ เสร็จแล้วก็เขียนประโยคนั้นลงสมุดจดศัพท์ ถ้าลงทุนจับขนาดนี้ ศัพท์ก็มักไม่หลุดจากมือไปง่าย ๆ

3.จำ
จำในขั้นตอนนี้ ไม่ใช่การท่องจำ แต่เป็นการตรึงใจให้เป็นสมาธิสัก 10 วินาทีเมื่อเจอศัพท์ใหม่ และพูดชัด ๆ ดัง ๆ ในใจ ให้สมองได้ยินว่าศัพท์คำนี้แปลว่าอะไร อาจจะบอกคำแปลเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ พูดสัก 3 เที่ยว ให้คำพูดดัง ๆ ในใจนี้เหมือนใช้ฆ้อนตอกตะปูตรึงศัพท์คำนี้ไว้ที่เนื้อสมอง ถ้าท่านใดไม่เคยทำ ผมขอชวนให้ลองทำดู  ทุกครั้งที่ท่านต้องการจำศัพท์ใหม่ที่ไม่เคยเจอ หรือจำศัพท์เก่าที่กำลังจะลืม

4.จด
การจดศัพท์ใหม่ลงสมุด ให้เราเปล่งเสียงอ่านคำศัพท์ให้ตัวเองได้ยินขณะที่จดด้วย เพราะฉะนั้น การจดแต่ละคำ-แต่ละครั้ง ศัพท์จะผ่านมือ-ผ่านตา-ผ่านปาก-ผ่านหู ครบ 4 อวัยวะ จึงเป็นการจดที่มีประสิทธิภาพ
สำหรับรูปแบบสมุดจดศัพท์ ผมขอแนะนำ 3 แบบ ให้ท่านเลือก ดังนี้







รูปแบบที่ 1: ศัพท์ - คำแปลภาษาไทย






รูปแบบที่ 2: ศัพท์ - คำแปลภาษาอังกฤษ 









รูปแบบที่ 3: ศัพท์ - คำแปลภาษาไทย  คำแปลภาษาอังกฤษ




 
5.ท่อง
ก็นำศัพท์ที่จดไว้ในข้อ 4 นั่นแหละครับมาท่อง วันไหนมีเวลาและอารมณ์ก็ท่องเยอะหน่อย วันไหนไม่มีเวลา-ไม่มีอารมณ์ ก็เลือกท่องสัก 5 คำก็พอครับ ในเรื่องท่องนี้ ผมขอบอกว่า การตั้งใจท่องเป็นหน้าที่ของเรา แต่การจำเป็นหน้าที่ของสมอง ถ้าเราทำหน้าที่ท่องของเราแล้วอย่างกระตือรือร้น แต่สมองกลับทำหน้าที่จำของมันอย่างเกียจคร้าน  ก็ช่างมันเถอะครับ  ไม่ต้องไป serious, ถ้าเราขยันท่องไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวสมองมันก็อายและขยันจำเองแหละครับ

6.test
ในบล็อก www.e4thai.com  นี้ ผมได้รวบรวมเว็บและไฟล์ให้ท่านใช้เพื่อการ test ศัพท์มากพอสมควรที่ลิงค์นี้ http://tinyurl.com/6lrglsr 

แต่ที่ผมต้องการแนะเป็นพิเศษในวันนี้ ก็คือ การนำสมุดจดศัพท์ที่ท่านทำไว้ในข้อ 4.มา test ตัวเองอยู่เนือง ๆ โดย
-เปิดคำศัพท์ – ปิดคำแปล, และนึกในใจว่าแต่ละคำศัพท์ -แปลว่าอะไร และค่อย ๆ เลื่อนลงมาเพื่อดูเฉลยคำแปล ทีละคำ
-เปิดคำแปล – ปิดคำศัพท์, และนึกในใจว่าคำแปลนี้ คำศัพท์ของมันคืออะไร , และค่อย ๆ เลื่อนลงมาเพื่อดูคำศัพท์คำนั้น

ตามความเห็นของผม สมุดจดศัพท์แบบที่ 2 คือ คำศัพท์ที่มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ   มีประโยชน์มากที่สุด เพราะขณะที่ท่าน test หรือทบทวนศัพท์ สมองของท่านจะมีแต่ภาษาอังกฤษ คือท่านจะเข้าใจเป็นภาษาอังกฤษไปเลย ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก เวลาที่ท่านต้องพูดหรือเขียนและนึกถึงคำศัพท์ที่ต้องใช้ เพราะมันจะช่วยฝึกให้ท่านคิดเป็นภาษาอังกฤษ และพูดออกไปเลยเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ต้องผ่านภาษาไทย

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ คือวิธีจำศัพท์ที่ผมใช้มาตั้งแต่เด็ก ถ้าท่านรู้สึกว่ามีประโยชน์ก็เชิญลองเอาไปใช้ได้ตามสะดวกครับ

ศึกษาเพิ่มเติม:
วิธีจำศัพท์ที่บล็อกนี้เคยแนะนำไว้

พิพัฒน์
www.facebook.com/e4thai
www.facebook.com/EnglishforThai
e4thai@live.com

ไม่มีความคิดเห็น: