วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2551

[17] ศัพท์:- จำให้ได้ – นึกให้ออก - เดาให้ถูก

สวัสดีครับ
บางท่านที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ Blog นี้อาจจะรู้สึกเบื่อที่ผมเอาแต่พูดซ้ำซากว่าต้องรู้ศัพท์เยอะ ๆ พูดครั้งเดียวก็รู้เรื่องแล้ว ทำไมต้องพูดกันบ่อยให้เกะกะหน้าจอ ช่างน่ารำคาญจริง ๆ

ขอนุญาตให้ผมทำความรำคาญให้แก่ท่านอีกสัก 1 ครั้งเถอะครับ

ทุกคนที่เรียนภาษาอังกฤษ อยากอ่านรู้เรื่อง – ฟังรู้เรื่อง – พูดได้ – เขียนได้ แล้วจะเอาอะไรมาฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ล่ะครับ ก็ต้องเอาศัพท์ และ grammar นั่นแหละครับมาใช้ ถ้าไม่รู้ศัพท์-ไม่รู้ grammar ก็อ่านไม่รู้เรื่อง-ฟังไม่รู้เรื่อง หรือรู้น้อย, ส่วนเมื่อถึงเวลาที่จะพูดหรือเขียน ก็ต้องเอาศัพท์หรือ grammar อีกนั่นแหละมาใช้ ผมขอเปรียบง่าย ๆ อย่างนี้แล้วกันครับ ถ้าท่านจะแกงส้มสักหนึ่งหม้อ ศัพท์ทั้งหลายก็เหมือนเครื่องแกง ไม่มีเครื่องแกงจะแกงได้ยังไง ไม่รู้ศัพท์จะเอาอะไรล่ะครับมาพูดเพื่อสื่อความ

และเมื่อมีเครื่องแกงแล้วจะแกงยังไงล่ะครับให้มันอร่อย ก็ต้องแกงตามสูตรที่คนทั่วไปยอมรับว่าอร่อย ไม่ใช่แกงเสร็จแล้วคนชิมถามว่า ‘นี่มันแกงส้มแน่นะ?’ ถ้าสูตรการปรุงเรียกว่า ‘ตำรับปรุงอาหาร’ การปรุงคำพูดให้คนฟังรู้เรื่อง หรือการปรุงข้อเขียนให้คนอ่านรู้เรื่อง ก็ต้องมีสูตรเช่นเดียวกัน และคงจะต้องมีหลายสูตรซะด้วย แต่สูตรพื้นฐานที่สุดมีชื่อที่หลายคนเรียกด้วยความรังเกียจว่า ‘แกรมมาร์’

อันที่จริงเราก็ไม่ต้องรู้ลึกซึ้งหรอกครับ แค่พอรู้แกรมมาร์พื้นฐานและศัพท์พื้นฐาน ก็สามารถฟัง-พูด-อ่าน-เขียนได้ บางทีเดาบ้างมั่วบ้างก็พอถูไถไปได้ ก็ไม่เห็นจะต้องรู้ครบ 100 % นี่ครับ

สิ่งที่ผมแปลกใจเอามาก ๆ ก็คือ ตั้งแต่ผมเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก มีครูน้อยคนมาก ที่สอนหลักการเดาให้ใกล้เคียงความจริงที่สุด หรือแทบไม่มีครูท่านใดเลยที่สอนหลักการมั่วให้ผิดน้อยที่สุด (ที่พูดเช่นนี้พูดตามเนื้อผ้านะครับ มิได้รู้สึกต่อว่าอาจารย์แม้แต่นิดเดียว) แต่เมื่อโตขึ้นและต้องศึกษาภาษาอังกฤษเพื่อใช้งาน ผมถึงได้รู้ว่าการมั่วและการเดา (ภาษาวิชาการน่าจะใช้คำว่า ‘การสันนิษฐาน’ หรือ ‘การสังเกต’) จำเป็นมาก จำเป็นมากกว่า จนถึงจำเป็นมากที่สุด เพราะเป็นไปไม่ได้หรอกครับที่ใครมันจะรู้ศัพท์หมดทุกตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งศัพท์เฉพาะสาขาวิชาหรือที่เขาเรียกกันว่า technical term

ก็เหลือวิธีเดียวเท่านั้นแหละครับที่จะให้รู้ศัพท์ได้ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้มาก่อน คือ เดา
จากประสบการณ์ผมรู้สึกว่า คำว่า ‘เดา’ เป็นคำที่คนดูถูกมากเกินไป เหมือนเป็นวิธีการเรียนภาษาอังกฤษที่น่าเหยียดหยาม พอจะเดาก็กลัวผิดก็เลยใช้วิธีที่ sure กว่าคือเปิดดิก จะได้ ‘ไม่ผิด’ หรือถ้าขี้เกียจเปิดดิกก็ยอมที่จะ ‘ไม่รู้’ แต่ก็ไม่ยอมเดา เพื่อที่จะได้ ‘ไม่ผิด’ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายจริง ๆ

ถ้าท่านอนุญาตให้ผม ‘เดา’ ผมก็เดาว่าในสมองของคนเรา ก้อนสมองส่วนที่ทำหน้าที่เดา น่าจะเป็นสมองคนละก้อนกับส่วนที่ทำหน้าที่จำ (remember) และรำลึก (recall) การจะจำศัพท์ให้ได้เพื่อให้เข้าใจเวลาอ่านหรือฟัง และใช้เป็นเวลาพูดหรือเขียน จะต้องช่วยกันหลาย ๆ แรงครับ ทั้งจำให้ได้ – นึกให้ออก – และเดาให้ใกล้เคียง หัดเดาบ่อยมากเท่าไหร่ ก็จะเดาได้ใกล้เคียงมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

จำให้ได้ – นึกให้ออก – และเดาให้ใกล้เคียง ถ้าทำงานเป็น 3 เกลออย่างนี้ สบายครับ ถ้าขืนทำงานแค่ 2 คือจำกับนึก แต่ไม่ยอมออกแรงเดา ไปได้ช้าครับ
‘เดา’ แม้อาจจะผิด แต่ก็มีโอกาสถูก ยิ่งเดาบ่อยโอกาสถูกยิ่งมีมาก, ไม่เดา – ไม่ผิด – แต่ก็ไม่รู้ ฉะนั้น เดาดีกว่าครับ

และจะเดากันยังไงล่ะ ผู้ที่สอนเรื่องนี้ได้ชัดเจนที่สุดเท่าที่ผมเคบอ่านพบมา คือ อาจารย์ Terry Fredrickson — แห่งหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ผมคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ที่ลิงค์นี้ครับ [71] เดาศัพท์จากเรื่องที่อ่าน-เดายังไง?

จริง ๆ แล้ว วันนี้ผมต้องการพูดสั้น ๆนิดดียวแหละครับ แต่ขอพูดดัง ๆ และพูดบ่อย ๆ ว่า ‘ต้องจำให้ได้ – นึกให้ออก – และเดาให้ถูก ไปตามลำดับ จากง่ายไปยาก’
ถ้าเราจำศัพท์ชั้นอนุบาลได้ ถึงเวลาขึ้นเรียนชั้นประถมและเจอศัพท์ใหม่ ก็พอจะเดาได้เพราะศัพท์ที่ตุนจำไว้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลเป็นตัวช่วยที่ดีในการเดา ถ้าเราทำตาม step เช่นนี้ไปไม่หยุด เราก็จะรู้ศัพท์มากขึ้นเรื่อย ๆ ไล่ไปตามลำดับ ตั้งแต่ชั้น อนุบาล – ประถม – มัธยม ไปจนถึง มหาวิทยาลัย

ท่านที่เข้า Blog นี้บ่อย ๆ จะสังเกตได้ว่า ผมเอาคำศัพท์ที่มีความง่าย – ยาก ลดหลั่นกันไปตามลำดับมาเสนอให้ท่านเลือกเล่นกับมัน และที่เน้นมากคือศัพท์พื้นฐาน เพราะเชื่อว่าศัพท์พื้นฐานจะเป็นบันไดให้เราสามารถเดาศัพท์ในระดับที่สูงขึ้นไปได้ ท่านพยายามสักระยะหนึ่ง ไม่นานนักก็จะถึงวันหนึ่งที่ท่านจะอ่าน Bangkok Post ได้รู้เรื่องคล้าย ๆ กับอ่านไทยรัฐ เวลาที่ท่านอ่านไทยรัฐแม้บางครั้งไม่รู้ศัพท์บางคำ ท่านก็ไม่ต้องเปืดพจนานุกรมเพราะท่านเดาเอาได้ ในทำนองเดียวกัน ถ้าท่านหัดเดาไปเรื่อย ๆ จนชำนาญ เมื่ออ่าน Bangkok Post แล้วไม่รู้ศัพท์บางคำ ท่านก็อาจจะไม่ต้องปิดดิกชันนารี เพราะท่านเดาเอาได้

สรุป สูตรในการเอาชนะศัพท์ให้ได้ ก็คือ
1. จำให้ได้ – พยายามจำศํพท์พื้นฐานให้ได้ Start from where we are, เหมือนขึ้นบันได ก็ต้องก้าวขึ้นไปจากขั้นที่เราเอาเท้าวางอยู่ อย่าก้าวผิดขั้น อย่าก้าวข้ามขั้น
2. นึกให้ออก – ศัพท์ตัวที่เคยเห็นหน้ามาแล้ว ถ้าเจออีกครั้งแต่นึกไม่ออก จะต้องหัดนึกทั้ง ๆ ที่นึกไม่ค่อยออกนั่นแหละครับ ท่านเคยเป็นอย่างนี้ไหมครับ เจอหน้าคนรู้จักคนหนึ่ง นึกชื่อเขาอยู่พักใหญ่ นึกยังไงก็นึกไม่ออก ก็เลยคิด ‘ช่างมัน! นึกไม่ออกก็ไม่นึกก็ได้วะ’ แต่บางที 3 ชั่วโมงต่อมา ชื่อของคน ๆ นั้นก็ผุดขึ้นมาเองในสมอง นี่แสดงว่าเมื่อเรา start เครื่องในสมองเพื่อนึก แต่นึกไม่ออกในทันที เลยปลงใจเลิกนึก แต่เครื่องนึกในสมองก็ยังคงทำงานของมันเองไปเรื่อย ๆ แล้วเมื่อถึงเวลาที่เหมาะ มันก็นึกของมันออกได้เอง การพยายามนึกชื่อคนได้ผลเช่นไร การพยายามนึกคำศัพท์ก็ได้ผลเช่นนั้น
3. เดาให้ถูก - เมื่อติดศัพท์ให้พยายามเดาตามหลักเกณฑ์ที่อาจารย์ Terry Fredrickson อธิบายไว้ที่ลิงค์นี้ [71] เดาศัพท์จากเรื่องที่อ่าน-เดายังไง? บวกกับการเดาโดยอิงศัพท์พื้นฐานที่พยายามจำให้ได้ นึกให้ออก

มีหลายคนพูดว่า เมื่ออายุมากขึ้นคนเราก็จำอะไรได้น้อยลง แต่ผมอยากจะแย้งนิดนึงว่า มันก็ขึ้นอยู่กับว่า เราออกกำลังสมองอยู่เสมอหรือเปล่า ถ้าเราเอาคำศัพท์มาเป็นเครื่องบริหารเพื่อออกกำลังสมองอยู่เสมอ สมองของเราก็จะไม่แก่ง่าย สามารถที่จะ จำได้ – นึกออก – เดาถูก ไม่เป็นโรคขี้หลงขึ้ลืมง่าย ๆ ครับ
การออกกำลังสมองด้วยการ จำ-นึก-เดา ศัพท์อยู่เสมอ นอกจากได้ภาษาอังกฤษที่แข็งแรงแล้ว ยังได้สมองที่แข็งแรงอีกด้วย ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัวครับ

พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com

ไม่มีความคิดเห็น: