วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

[49] เมื่อพูดภ.อังกฤษแต่นึกศัพท์ไม่ออก จะทำอย่างไร

สวัสดีครับ
ถ้าต้องแปลจากอังกฤษเป็นไทย และจากไทยเป็นอังกฤษ สำหรับท่านอย่างไหนง่ายกว่า? สำหรับผม - แปลจากอังกฤษเป็นไทยง่ายกว่าเยอะ สาเหตุก็อาจจะเป็นเพราะว่าผมรู้ภาษาไทยดีกว่าภาษาอังกฤษ จึงหาคำไทยมาเทียบศัพท์อังกฤษได้ง่ายกว่าที่จะหาคำอังกฤษมาเทียบศัพท์ไทย ผมเข้าใจว่าคนไทยหลายๆคนก็คงเป็นอย่างผม

แต่เมื่อต้องคุยกับคนต่างชาติเป็นภาษาอังกฤษหรือต้องเป็นล่าม ปัญหาที่พบบ่อยก็คือ เมื่อต้องพูดหรือแปลเป็นภาษาอังกฤษ มันนึกศัพท์อังกฤษไม่ออก แล้วจะทำยังไงดีล่ะครับ ก็ต้องหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน มันจะถูกหรือผิดผมก็ไม่รู้เหมือนกันครับ เพราะไม่เคยได้รับการอบรมเรื่องนี้มาเลย แต่ผมก็แก้ปัญหาตามประสาลูกทุ่งอย่างนี้ครับ

วิธีที่ 1: แปลจากภาษาไทยยากๆเป็นภาษาไทยง่ายๆ
ยกตัวอย่างเช่น ตอนแปลคำว่า “ความรู้สึกกระอักกระอ่วน กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” ตอนจะแปลจริงๆนึกไม่ออกครับว่า ต้องแปลยังไง รู้แต่ว่าความรู้สึกแบบนี้ มันไม่มีความสุขแน่ๆก็เลยแปลง่ายๆว่า difficult feeling

มีอยู่ครั้งหนึ่งต้องพูดคำว่า “ตามผลการสำรวจสำมโนประชากรของประเทศไทย” นึกไม่ออกจริงๆครับว่า “สำมโนประชากร” นี่ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร รู้แต่ว่ามันเป็นการสำรวจข้อมูลประชากรในประเทศในด้านต่างๆ เลยแปลไปว่า population survey

หลายๆคำที่ใช้คำพูดถึงความรู้สึก เช่น “น้อยใจ” จะให้แปลไทยเป็นไทยยังคิดไม่ออกเลยครับว่าจะแปลยังไง แล้วจะแปลเป็นภาษาอังกฤษได้รึนี่? ผมแปลดื้อๆเลยครับว่า feel sorry

ยกตัวอย่างอีกคำหนึ่ง คือ “เกรงใจ” เช่นกันครับแปลคำนี้เป็นภาษาไทยยังต้องคิดนาน จริงๆแล้วถ้าพูดว่า “เกรงใจ” แต่ละสถานการณ์ก็ไม่เหมือนกันอีก แต่โดยทั่วไปคงจะหมายถีง ไม่อยากให้คนอื่นลำบาก เช่น พูดว่า “ผมเกรงใจคุณเลยไม่ได้โทรถึงเมื่อวันอาทิตย์” ผมพูดง่ายๆเลยว่า “I didn’t call you on Sunday because I didn’t want to annoy you.”

มีอยู่ครั้งหนึ่งผมคุยกับคนต่างชาติ คุยเลยไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ แล้วจะต้องพูดว่า “ช่วงนั้นประเทศไทยประสบปัญหาเงินเฟ้อ” ผมนึกถึงคำว่า inflation ไม่ออกจริงๆ รู้แต่ว่า ถ้าเงินเฟ้อล่ะก็ของต้องแพง เลยพูดไหลไปเลยว่า “During that time, everything in Thailand was expensive.” ก็พอมั่วๆไปได้

ผมเข้าข้างตัวเองไว้ก่อนว่า วิธีแก้ปัญหาแบบนี้ คือ แปลจากภาษาไทยยากๆเป็นภาษาไทยง่ายๆซะก่อน (ใช้เวลาไม่กี่วินาที) แล้วจึงค่อยแปลเป็นภาษาอังกฤษง่าย ๆ แม้วิธีนี้อาจจะไม่ perfect แต่ก็น่าจะพอถูไถไปได้

วิธีที่ 2: ถ้านึกศัพท์ที่เจาะจงไม่ออก ก็ใช้ศัพท์ทั่วไป
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมต้องพาผู้เชี่ยวชาญฝรั่งไปดูงานที่จังหวัดขอนแก่น ผู้อำนวยการของหน่วยงานที่ไปเยี่ยม เขาบรรยายว่า “นักโบราณคดีขุดพบซากไดโนเสาร์ที่จังหวัดขอนแก่น” ผมเจอปัญหาเดิมครับ คือ นึกไม่ออกว่า “นักโบราณคดี” นี่ภาษาอังกฤษว่ายังไง ผมเลยใช้คำว่า an expert เพราะยังไงๆนักโบราณคดีก็ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญแน่ๆ

คำบางคำฟังแล้วเป็นศัพท์วิชาการมากๆเลย เช่น พูดว่า “เขาศึกษานิเวศวิทยา” นึกภาษาฝรั่งไม่ออกอีกแล้วครับ รู้แต่ว่ามันเป็นวิชาๆหนึ่ง ผมรู้ว่า “วิชา” ภาษาอังกฤษ คือ “ a subject” และนิเวศวิทยาก็คงเป็นวิชาที่ว่าด้วยการรักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาด ก็น่าจะเป็น a subject about clean environment และตอนหลังเมื่อต้องพูดถึงคำนี้อีกก็พูดสั้นๆว่า the study หรือ the subject เมื่อเสร็จงานแล้วมาเปิดดิกก็พบว่า แปลอย่างนี้ไม่ค่อยจะถูกนัก แต่ก็น่าจะพออภัยให้ได้นะครับ

ผมคิดว่าวิธีใช้ศัพท์ทั่วไป เพื่อแปลศัพท์จำเพาะนี้น่าจะเอาไปใช้ดีทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นคำนาม, adjective, หรือคำกริยา เช่น ภาษาไทย คำอะไรทั้งหลายแหล่ที่มันหมายถึงไม่ค่อยมีความสุข เช่น ทรมาน โศก เศร้า ทุกข์ เสียใจ หดหู่ ฯลฯ ถ้านึกศัพท์เจาะจงไม่ได้เดี๋ยวนั้น ก็ใช้ not happy หรือ unhappy ไปก่อน

คำที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ต้น” หรือ “ดอก” ต้นไม้นั้น ดอกไม้นี้มีเป็นสิบๆร้อยๆ อย่างใครจะไปจำศัพท์ได้ ก็เอาง่ายๆเลยว่า a tree หรือ a flower และเมื่อพูดกับเขาครั้งต่อไปหลังจากที่เข้าใจกันแล้วว่า หมายถึง ต้นไม้อะไรหรือดอกไม้อะไร ก็ใช้ the tree หรือ the flower แทน

สรุปก็คือถ้าเราไม่รู้ศัพท์โดยเจาะจง ให้เราพยายามดูว่ามันเป็นประเภทอะไร แล้วก็พูดโดยใช้ศัพท์กลางๆตัวนั้น เช่น เครื่องมือ ก็ tool, สัตว์ ก็ animal, “นัก” นั่น “นัก” นี่ ซึ่งหมายถึงผู้เชี่ยวชาญก็ใช้ “expert”, หมอสารพัดหมอ ไม่ว่าจะเป็นหมอสูติฯ หมอศัลย์ หมอฟัน หมอเด็ก หมอโรคหัวใจ ฯลฯ นึกไม่ออกก็ใช้ “ doctor” ไปก่อน เป็นต้น

หรือคำกริยาก็เหมือนกันครับ ถ้าเราต้องเป็นล่ามหรือแม้ต้องเป็นคนพูดเองก็ตาม ภาษาไทย(รากศัพท์จากบาลี) บางคำหรูหราและมีวรรณศิลป์มาก เช่น “เขาค่อยๆประดิดประดอยนำดอกไม้ใส่แจกัน” ตอนแปลไม่ต้องคิดมากเกินไปหรอกครับ ทำอย่างประดิดประดอยก็ต้องไม่ทำอย่างลวกๆ ต้องตั้งใจทำหน่อย ใช้ carefully ก็น่าจะได้

ท่านที่เป็นแฟน Blog นี้ คงจะสังเกตว่าผมเน้นเรื่องการจำศัพท์พื้นฐานให้ได้ เพราะว่าศัพท์พื้นฐานเพียงสัก 1 -2,000 คำนี่แหละครับ เอาไปใช้พูด-ใช้แปลได้ตั้งแต่เรื่องไม้จิ้มฟันยันเรือรบ และแม้ว่าเราจะไม่สามารถพูดหรือแปลได้อย่างนักวิชาการ แต่เราก็สามารถพูดให้คนต่างชาติรู้เรื่องได้แหละน่า

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เป็นวิธีที่ผมใช้แก้ปัญหาเวลาพูดหรือเป็นล่าม แต่นึกศัพท์ภาษาอังกฤษไม่ออกในทันที และต้องหาทางพูดสื่อสารออกไปให้ได้ก่อน

ท่านใดมีประสบการณ์เกี่ยวกับการพูดหรือการเป็นล่าม เขียนมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ

ศัพท์พื้นฐานที่น่าสนใจ
[367] ศัพท์พื้นฐาน 1,000 คำ ที่ต้องจำให้ขึ้นใจ
[407] 1,000 คำศัพท์ไทยที่ใช้บ่อย (พร้อมคำแปล)
[450] ฟังเสียงศัพท์หมวด 1,500 คำ
[444]ดาวน์โหลด‘ตัวช่วย’พิชิตดิก Oxford & Longman
[476] จำศัพท์วิ่ง 1,500 คำ จากหน้าคอมฯ

พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com

ไม่มีความคิดเห็น: