วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2551

[300] ฝึกอ่านข่าว – แปลข่าว หนังสือพิมพ์ ที่นี่

สวัสดีครับ
เมื่อวานนี้ผมเดินไปที่แผงหนังสือเพื่อดูวารสารสอนภาษาอังกฤษที่วางจำหน่าย ก็พบว่ามีอยู่ไม่กี่ฉบับ เมื่อพลิกดูก็เห็นว่ามีลักษณะหนึ่งที่เหมือนกันแทบทุกฉบับคือ ยกข่าวภาษาอังกฤษมา แล้วแปลเทียบประโยคต่อประโยค ย่อหน้าต่อย่อหน้า พร้อมอธิบายศัพท์ และให้เกร็ดความรู้ทางแกรมมาร์แทรกเข้าไปด้วย

ลักษณะข้างบนนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และช่วยฝึก reading skill มากทีเดียว

ก่อนอื่น ผมขอแจงให้ท่านเห็นขั้นตอนและประโยชน์ของการอ่านและการแปลหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ให้ท่านเห็นง่าย ๆ ก่อนนะครับ

[1] พอเราลงมืออ่านข่าว และก็พบศัพท์ที่จำเป็นต้องรู้ความหมาย และเดายังไงก็เดาไม่ถูก เราก็ต้องเปิดดิก

[2]
แม้เราจะไม่รู้ความหมายของศัพท์ แต่เราควรจะต้องรู้ว่า ศัพท์ตัวนี้ทำหน้าที่เป็นคำอะไรในประโยค เช่น คำว่า light สามารถเป็นทั้ง noun, verb adjective และ adverb ตรงนี้แหละครับที่ความรู้พื้นฐานด้านแกรมมาร์ คือ ชนิดและหน้าที่ของคำ เป็นเรื่องที่เราต้องรู้ ผมคิดว่าถ้าท่านใดยังไม่แม่นเรื่องนี้ ท่านจะต้องยอมลงทุนสละเวลาศึกษาเรื่องนี้ก่อน มันเป็น basic ที่จำเป็นต้องรู้ เหมือนนักเล่นแบดมินตัน ถ้ายังไม่คล่องเรื่องการตีฟอร์แฮนด์ แบคแฮนด์ ลูกหยอด ลูกตบ ลูกโยกซ้ายขวา ฯลฯ ถ้า basic พวกนี้ยังไม่ดีพอ ต่อให้ตีแบดไปนานแค่ไหนก็ตาม ก็พัฒนาฝีมือให้ดีขึ้นจนเป็นแชมป์ได้ยาก การรู้ประเภทและหน้าที่ของคำประเภทต่าง ๆ ในภาษาอังกฤษ ก็เช่นเดียวกันครับ ท่นสามารถ start ได้จากเว็บข้างล่างนี้ครับ
[11] เว็บสำหรับท่านที่ต้องการเรียนตั้งแต่ บทที่ 1.

พอมาถึงขั้นนี้ ท่านควรจะรู้แล้วว่า คำศัพท์ที่ท่านต้องการเปิดหาความหมาย เป็นคำอะไร แม้ว่าท่านอาจจะไม่รู้ความหมายของมันก็ตาม นี่แหละครับที่ทำให้เราต้องรู้แกรมมาร์พื้นฐานอยู่บ้าง ผมขอยกตัวอย่างคำข้างบน คือ คำว่า light
เป็น noun : เช่น"He stopped the car and turned off the lights."
เป็น verb: เช่น "Light a cigarette."
เป็น adjective: เช่น "the light touch of her fingers"
เป็น adverb:เช่น "experienced travelers travel light"

[3] แล้วท่านก็เริ่มเปิดดิก โดยกำหนดไว้ในใจว่า คำที่ต้องการหาเป็นคำประเภทอะไร โดยปกติดิกชันนารี ไม่ว่าจะเป็นดิกอังกฤษ – อังกฤษ หรือ อังกฤษ – ไทย ถ้าคำใดทำหน้าที่ได้หลายประเภท เช่น คำว่า light ข้างบน เขาจะแยกให้เห็นชัดเลยว่า ถ้าเป็น noun แปลว่าไรบ้าง บางทีก็มีตัวเลข 1, 2, 3, 4 , …. กำกับลำดับของความหมายไว้ให้ด้วย (ความหมายแรก ๆ คือความหมายที่ใช้บ่อย ความหมายหลังใช้ไม่บ่อย) หรือถ้าเป็น verb มีกี่ความหมาย แปลว่าอะไรบ้าง อย่างนี้เป็นต้น ถ้าท่านรู้แล้วว่าศัพท์ที่ต้องการค้นหาเป็น adjective ท่านก็ไม้ต้องไปดูคำว่า light ที่เป็น noun, verb หรือ adverb

[4] เอาละ พอเจอศัพท์นั้นซึ่งเป็นคำประเภทที่เราต้องการแล้ว ก็ต้องมาเดาอีกว่า ถ้ามันมีหลายความหมาย หมายหมายใดนะที่มันตรงกับเนื้อหาที่เราอ่าน หลาย ๆ ความหมายที่ดิกชันนารีให้ไว้ บางครั้งความหมายที่ 1 กับ 2 ต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่บางครั้งความหมาย หรือ shade of meaning อาจจะคาบเกี่ยวหรือเหลื่อมซ้อนกัน เราก็ต้องพิจารณาดูอีกว่า ความหมายไหนกันแน่ที่ตรงมากที่สุดกับเนื้อหาที่เรากำลังอ่าน

[5] ภาระของเรายังไม่หมดครับ เพราะยังมีภาระเรื่องการทำความเข้าใจหรือการตีความ ก็คือว่า แม้จะรู้ประเภทของคำ รู้ความหมายของศัพท์ แต่บางทีก็ยังอาจจะอ่านไม่รู้เรื่องดีนัก เพราะเมื่อไปรวมกับคำอื่น ๆ ในประโยคก็ยังอ่านไม่ค่อยรู้เรื่องอยู่ดี ผมขอยกตัวอย่างง่าย ๆใกล้ตัวอย่างนี้ครับ ท่านที่ไม่ได้เรียนจบมาทางด้านนี้ แต่ต้องอ่านตำราภาษาไทยที่เขียนเกี่ยวกับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ หรือทางฟิสิกส์ ทั้ง ๆ ที่ตำราเขียนเป็นภาษาไทยทุกคำนี่แหละครับ อ่านจบแล้วก็ยังไม่รู้เรื่อง ตำราภาษาอังกฤษจึงยิ่งยากขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะฝึกอ่านภาษาอังกฤษ ควรเริ่มต้นด้วยเรื่องที่เราชอบ หรือมีความรู้พื้นฐานในเรื่องนั้นพอสมควร จะได้ไม่ต้องปวดหัวเรื่องการตีความมากนัก

[6] ถ้าเราผ่าน 5 ข้อข้างต้นมาได้แล้วอย่างดี ก็แสดงว่าเราสอบผ่านเรื่องการอ่าน เราจะเกิดความเข้าใจในสมอง และความเข้าใจก็คือความเขาใจ มันเข้าใจไปเองโดยเราไม่จำเป็นต้องแปลความเข้าใจนั้นเป็นภาษาไทย คนไทยที่ทำงานกับต่างชาติ โดยต้องพูดหรือเขียนโต้ตอบบ่อย ๆ เมื่อฟังเขาพูดก็เข้าใจ และไม่ต้องแปลความเข้าใจนั้นเป็นภาษาไทย เข้าใจก็คือเข้าใจ และสามารถพูดโต้ตอบไปได้เลย โดยไม่ต้องคิดเป็นภาษาไทยก่อนตอบ แต่คิดและพูดออกไปเป็นภาษาอังกฤษเลย

ผมกำลังจะย้อนกลับมาบอกท่านว่า ถ้าท่านอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษและก็เข้าใจไปได้เรื่อย ๆ ท่านก็ไม่จำเป็นต้องแปลเป็นภาษาไทยในสมองหรอกครับ เพราะอย่างที่ผมบอกแล้ว เขาใจก็คือเข้าใจ มันจะเข้าใจเป็นภาษาอะไรก็เรื่องของมัน โดยท่านไม่ต้องเหนื่อยแปลให้เป็นอีกภาษาหนึ่งให้เสียเวลาเปล่า

แต่ถ้าท่านยังไม่คล่องถึงปานนี้ ตอนที่ท่านอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ และมันยากสักนิด ท่านอาจจะต้อง pause ตัวเอง และหยุด “แปล” เป็นภาษาไทยในสมอง ตอนที่แปลเป็นภาษาไทยนี่แหละครับ ทำให้ท่านมีภาระเพิ่มขึ้นอีก 1 เรื่อง คือ มันเป็นไปโดยอัตโนมัติครับว่า ท่านจะต้องคิดถึงคำหรือวลีในภาษาไทยที่จะใช้เทียบคำหรือวลีภาษาอังกฤษ และบางทีมันก็ไม่ง่ายนัก เพราะบางทีเราก็ไม่รู้หรือมันไม่มีคำไทยเทียบ (หรือยังไม่มีใครคิดคำภาษาไทยขึ้นไว้เทียบ) เช่น

a member of the National Counter Corruption Commission (NCCC), said the appointment of the advisers did not violate any law.
ในประโยคนี้ เมื่อเห็นกลุ่มคำที่ขึ้นต้นด้วยอักษรตัวโต (ที่เป็นตัวเอนดำ) คนอ่านถ้ารู้ศัพท์ก็ย่อมทราบว่า คณะกรรมการชุดนี้เป็นคณะกรรมการระดับชาติที่มีหน้าที่ปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่คณะกรรมการขุดนี้เขามีชื่อเฉพาะในภาษาไทยว่าอย่งไรล่ะครับ นี่เป็นเรื่องของการแปลแล้วล่ะครับ ไม่ใช่เรื่องของการอ่าน เพราะเมื่ออ่านเราเข้าใจไปเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อแปลเราต้องแปลเป็นอีกภาษาหนึ่ง และต้องมีภาระในการหาคำที่จะเอามาแปล

ดูอีกประโยคหนึ่งครับ

Former chairman of the Assets Scrutiny Committee (ASC) sub-panel in charge of scrutinizing the fire truck deal has admitted that…
เรารู้ว่าคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติ แต่ชื่อเฉพาะในภาษาไทยมันคืออะไรล่ะครับ

เอาล่ะครับ ที่ผมพูดมาตั้งแต่ต้นจนถึงบรรทัดนี้คืออารัมภบท หรือการชักนำเขาสู่บทเรียน ต่อไปนี้คือเรื่องที่ผมต้องการจะพูดในวันนี้

อย่างที่ผมเรียนท่านข้างบนว่า เมื่อพลิกดู วารสารภาษาอังกฤษทั้งหลายบนแผงหนังสือ ผมเห็นว่ามีลักษณะหนึ่งที่เหมือนกันแทบทุกฉบับคือ ยกข่าวภาษาอังกฤษมา แล้วแปลเทียบประโยคต่อประโยค ย่อหน้าต่อย่อหน้า พร้อมอธิบายศัพท์ และให้เกร็ดความรู้ทางแกรมมาร์แทรกเข้าไปด้วย ทั้งหมดนี้แหละครับ คือการที่เขาทำงานตั้งแต่ข้อ 1 ถึง ข้อ 6 ข้างต้นให้เราดู

วารสารพวกนี้จะมีประโยชน์มาก ถ้าเราลองทำด้วยตัวเองจนสุความสามารถเสียก่อน แล้วจึงค่อยดูคำแปลที่เขาพิมพ์ไว้ให้ แล้วเปรียบเทียบว่าเรา “อ่าน” และ"เข้าใจ" ผิดถูกมากน้อยแค่ไหน และ “แปล” ได้ดีแค่ไหน หรือบางทีเราอาจจะพบว่า บางประโยคคอลัมนิสต์อาจจะแปลไม่ค่อยถูกต้องก็ได้

ขั้นตอนการฝึกอ่าน - ฝึกแปล ที่ผมร่ายยาวมาตั้งแต่ต้นนี้ อาจจะฟังดูยุ่งยากและยึดยาว แต่ถ้าท่านฝึกตัวเองจนคล่องแล้ว มันก็เป็นเรื่องง่ายนิดเดียวครับ และทำได้โดยอัตโนมัติเหมือนพลิกฝ่ามือ

อย่างไรก็ตาม จะเก่งอะไรก็ตามต้องผ่านการฝึกมาแล้วทั้งนั้น (ทุกข้อข้างต้น ตั้งแต่ 1 – 6) และ 2 ลิงค์ข้างล่างนี้ คือเครื่องมือที่ท่านสามารถใช้ฝึกฝนตัวเองได้เป็นอย่างดี

http://thai.langhub.com/component/option,com_joomap/Itemid,50/lang,thai/
[199] เรียนแปลข่าวจากนักแปลชั้นครู (แจกไฟล์)

อันที่จริงมีเว็บคุณภาพเยี่ยมอีกมากที่สอนการอ่านข่าวภาษาอังกฤษ แต่เขาอธิบายเป็นภาษาอังกฤษครับ ก็เลยอาจจะเข้าใจยากกว่า 2 เว็บข้างบน แต่ท่านลองเข้าไปดูสักนิดก็ดีครับ ท่านอาจจะศึกษาไปพร้มกับเว็บข้างบนก็ได้ครับ
[39] เรียนภาษาจากหนังสือพิมพ์
[173] แนะนำเทคนิคการฝึกอ่าน นสพ.ภาษาอังกฤษ
http://www.bbc.co.uk/worldservice/learningenglish/newsenglish/

ท่านผู้อ่านครับ การอ่านภาษาอังกฤษให้รู้เรื่องนี้ ไม่ใช่เป็นวิชา หรือ subject ให้เราสอบผ่านเพื่อจะได้เรียนจบ แต่มันเป็นทักษะ หรือ skill ที่เราสามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ได้จนตลอดชีวิต

ถ้าขณะนี้ท่านยังไม่มีทักษะนี้มากเพียงพอ หรือยังไม่คล่อง ยอมสละเวลาและใช้ความพยายามเพื่อฝึกให้คล่องเถอะครับ ผมขอรับรองว่าท่านจะได้รับประโยชน์มหาศาลที่คุ้มค่ายิ่งกว่าคุ้มจากการฝึกอ่านภาษาอังกฤษให้คล่อง

พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com

ไม่มีความคิดเห็น: