วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2551

[307]คัมภีร์เต๋า เต็ก เก็ง ของปราชญ์เล่าจื๊อ

สวัสดีครับ
หลวงพ่อปัญญานันทะ พระแท้รูปหนึ่งของเมืองไทย ได้สอนให้เราดำรงชีวิตอยู่ใน ห้าดี คือ
1. คิดดี
2. พูดดี
3. ทำดี
4. คบคนดี และ
5. ไปสู่สถานที่ดีๆ
ถ้าไม่เป็นการอาจเอื้อมเกินไป ผมอยากจะเพิ่มอีก 1 ข้อ คือ
6. อ่านหนังสือเล่มดีๆ (รวมทั้งสื่อที่ดีทุกประเภท เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เว็บ CD เป็นต้น)

ในขณะที่ 3 ข้อแรก คือ คิดดี พูดดี และทำดี เป็นทางเดินที่ดีของชีวิต แต่ 3 ข้อหลัง คือ คบคนดี ไปสู่สถานที่ดี ๆ และอ่านหนังสือเล่มดี ๆ จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญที่ทำให้เราไม่เดินออกนอกทางเดินที่ดีของชีวิต

ท่านผู้อ่านคงเห็นด้วยกับผมนะครับว่า โลกเราที่มีคนเกิดมาอาศัยอยู่หลายพันปีแล้วนี้ ทุกยุคสมัย และทุกมุมของโลก ต่างก็มีนักปราชญ์หรือศาสดาเกิดขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง ท่านผู้รู้เหล่านี้ได้จารึกหลักการดำเนินชีวิตที่ดีและทิ้งไว้ให้เป็นสมบัติของคนรุ่นต่อมา โลกทุกวันนี้ที่เจริญหรือไม่เสื่อมโทรมไปมากกว่านี้ก็เพราะสมบัติทางปัญญาที่คนรุ่นหลังได้รับประโยชน์ มิฉะนั้นคนรุ่นใหม่จะต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ทุกครั้งในการทำให้โลกนี้มีสันติภาพ และทำให้ชีวิตของแต่ละคนมีสันติสุข

โดยส่วนตัวเอง ผมได้ใช้หนังสือธรรมะของพระสุปฏิบัติหลายรูปของไทยเป็นหลักในการดำเนินชีวิต และเชื่อว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พระสุปฏิบัตินำมาสั่งสอน ถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์แล้ว และไม่จำเป็นต้องแสวงหาผู้รู้อื่น

แต่อันที่จริงในโลกตะวันตกก็มีนักคิดนักปรัชญามากมาย แต่คงเพราะผมมีใจลำเอียงจึงไม่ค่อยได้อ่านหนังสือของผู้รู้ในโลกตะวันตกสักเท่าไร แต่ในระยะหลัง ๆ นี้ผมเริ่มหยิบมาอ่านบ้างแล้ว เพราะคิดว่าน่าจะมีแง่มุมที่ดีบางอย่างที่แตกต่างออกไปและเก็บมาใช้ได้

สำหรับพวกเราที่อยู่ในโลกตะวันออก ผมเห็นว่าคำสอนของปราชญ์ชาวจีน ซึ่งเป็นประเทศที่สะสมอารยธรรมมาหลายพันปี น่าจะมีสิ่งดีให้เราเรียนรู้ได้ไม่น้อย ซึ่งมี 3 ท่านซึ่งผมขอยกมากล่าวในที่นี้ คือ ขงจื๊อ จางจื๊อ และเล่าจื๊อ

สำหรับท่านสุดท้าย คือ เล่าจื๊อ หนังสือคำสอนของท่านที่ทั่วโลกรู้จัก คือ คัมภีร์เต๋า เต็ก เก็ง ต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้ ในภาษาจีนก็มีหลายเวอร์ชั่น ในภาษาอังกฤษซึ่งแปลจากภาษาจีนก็มีหลายเวอร์ชั่น ในภาษาไทยที่แปลจากทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษก็ยิ่งมีหลายเวอร์ชั่นขึ้นไปอีก แต่ที่ตรงกันก็คือ คัมภีร์เต๋า เต็ก เก็ง มีทั้งหมด 81 บท (ท่ารำมวยจีนก็มี 81 ท่า?) เนื้อหามีทั้งหลักในการดำเนินชีวิตส่วนตัว และหลักการปกครองบ้านเมือง ความหมายก็ต่างกันไปบ้างแล้วแต่ว่าใครเป็นคนตีความ (ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า “เต๋า คือ ธรรมะ”)

ผมเองอ่านมาแล้ว ภาษาไทย 1 เวอร์ชั่น และภาษาอังกฤษ 1 เวอร์ชั่น และก็รู้สึกว่า ในฐานะที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เราก็เก็บเอาประโยชน์โดยรวมจากหนังสือเล่มนี้ก็แล้วกัน ไม่จำเป็นต้องไปร่วมวงถกเถียงกับผู้รู้ทั้งหลายเหล่านั้นในการตีความ
ผมมีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษให้ท่านดาวน์โหลดอ่าน คลิกข้างล่างนี้ครับ

เป็นไฟล์ pdf
เป็นไฟล์ word

บทที่ผมชอบ คือ บทที่ 17, 33, 41, 46, 53, 56, 59, 61, 66, 67, 75, 76, 80, 81 แต่ถ้าท่านผู้อ่านพอมีเวลา น่าจะอ่านไปให้จบเล่มเลย เพราะเป็นหนังสือเล่มบาง ๆ เท่านั้นเอง

โอกาสหน้า ถ้าหาพบหนังสือของขงจื๊อ และจางจื๊อที่น่าสนใจ ผมจะกลับมาคุยอีกครับ

พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

มีภาษาไทยมั้ยค่ะ