วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2551

[334]สองลิ่งที่ต้องทำเอง:1.วางแผน 2.ลงมือเรียน

สวัสดีครับ
หลายครั้งที่ผมได้รับข้อความทำนองข้างล่างนี้จากท่านผู้อ่าน...

1. ช่วยแนะนำว่าควรจะเริ่มต้นเรียนตรงไหนดี เพราะเว็บที่แนะนำมันเยอะไปหมดจนเวียนหัว
2. ช่วยแนะนำการเรียนตั้งแต่เริ่มต้น A, B, C… เลย เพราะภาษาอังกฤษของผมหรือของหนูอ่อนมาก หรือที่เคยเรียนมาลืมไปหมดแล้ว
3. จะต้องทำยังไงถึงจะเก่งภาษาอังกฤษได้เร็ว ๆ เพราะต้องไปสอบที่นั่น ๆ หรือได้งานใหม่ที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ
4. ผม (หนู) จะต้องวางแผนการเรียนภาษาอังกฤษยังไงจึงจะได้ผลเร็ว
5. ช่วยแนะนำโรงเรียนหรืออาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่เก่ง ๆ

คำตอบของผมต่อคำถามข้างบนนี้คือ
ข้อ 1. ผมไม่ทราบครับ
ข้อ 2. ผมไม่ทราบครับ
ข้อ 3. คุณต้องหาวิธีเองครับ
ข้อ 4. คุณต้องคิดเอาเองครับ
ข้อ 5. ผมไม่ทราบครับ

เมื่ออ่านคำถามและคำตอบแล้ว ท่านอาจจะรู้สึกว่า ผมเป็นคนใจดำและตัดรอนอย่างไร้น้ำใจ ก็อาจจะมีส่วนจริงครับ แต่ที่จริงกว่านี้ก็คือ คำตอบที่ผมให้ไว้นั่นแหละครับจริงที่สุด

วันนี้ผมตั้งชื่อหัวข้อไว้ว่า “สองลิ่งที่ต้องทำเอง 1.วางแผนเรียน 2.ลงมือเรียน” ในสิ่งที่ผมจะพูดต่อจากนี้ ผมจะพยายามพูดให้ชัดที่สุดว่าทำไมผมจึงตอบเหมือนไร้ไมตรีอย่างนั้น

จากแบบสำรวจความคิดเห็น ในลิงค์ * คลิกแสดงความคิดเห็น * ปรากฏว่า ผู้ที่เข้ามาใช้ blog นี้แบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ได้ดังนี้(ก) เป็นนักศึกษา (29%)
(ข) เป็นครู อาจารย์ (7%)
(ค) รับราชการ (11%)
(ง) ทำงานส่วนตัว (14%)
(จ) เป็นพนักงานบริษัท (36%)

จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่ใหญ่ที่สุด เป็นพนักงานบริษัท ซึ่งน่าจะเป็นคนที่จบการศึกษาแล้วและจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษในงานที่รับผิดชอบ และกลุ่มถัดไปเป็นนักเรียน-นักศึกษา ซึ่งผมไม่แน่ใจนักว่าวัตถุประสงค์หลักของเขา คือ ต้องการฟิตภาษาอังกฤษเพื่อสอบให้ผ่าน หรือเตรียมตัวเองให้เก่งภาษาอังกฤษไว้เพื่อชีวิตการทำงานในอนาคต

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เมื่อบวกกับ feedback ที่ผมได้รับจากข้อความแสดงความคิดเห็นใน Post และ email ส่วนตัวที่ส่งถึงผม ดูเหมือนว่าทุกคนต้องการเก่งภาษาอังกฤษ และอยากจะเก่งให้ได้อย่างรวดเร็วทันใจซะด้วย ทุกคนไม่อยากรอนาน

ผมว่าเราลองมานั่งทบทวนอะไรกันเล่น ๆ ดีกว่า....

การศึกษาในบ้านเราตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์มาแล้ว เป็นการที่เราเรียนจากครู ครูคือผู้ให้ความรู้ ศิษย์คือผู้รับความรู้ ครูที่เก่งคือครูที่สามารถถ่ายทอดความรู้จนศิษย์เก่งเหมือนครูหรือเก่งยิ่งกว่าครู การศึกษาแบบนี้ครูจึงสำคัญมาก มากจริง ๆ

และต่อมาเมื่อมีมหาวิทยาลัยเปิดถาวร คือ ม.รามคำแหง และ ม.สุโขทัยฯ การศึกษาของเราจึงได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เรามี “ตำรา” ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนครู และในยุคต่อ ๆ มาเมื่อสื่อการศึกษาอย่างอื่น ๆ มีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่มากขึ้นทั้งปริมาณและเนื้อหา เทป CD การเรียนทางวิทยุ โทรทัศน์ และสุดท้ายคือ Internet มันทำให้เกิดคำพูดขึ้นมาว่า เราสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตลอดชีวิต เพราะแหล่งที่จะให้ความรู้มันมีมากมายไม่จำกัด ไม่จำเป็นต้องมี “ครู” ก็เรียนได้ ถ้าเราสามารถเรียนได้ด้วยตัวเอง

แต่ผมก็อดถามตัวเองไม่ได้ว่า คนไทยเรามีทักษะในการศึกษาด้วยตัวเองมากน้อยแค่ไหน ทำไมผมถึงรู้สึกเช่นนี้? ก็เพราะว่า ถ้าเราสามารถศึกษาได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะในเรื่องทักษะภาษาอังกฤษที่เรากำลังฟิตกันอยู่นี้ เราจะต้องสามารถทำสิ่งต่อไปนี้ได้:
1. ตอบได้ตรง ๆ ชัด ๆ ว่า ตนเองจะฟิตภาษาอังกฤษไปทำไม – คือ ถ้าเราอยากไปซะทุกอย่าง วัตถุประสงค์ของเราก็จะ blur เช่น
- เพื่อเอาไปใช้ในการทำงานปัจจุบัน ให้ทำงานได้ดีขึ้น หรือมีโอกาสมากขึ้นในการได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง
- เพื่อใช้หารายได้พิเศษหรือเพิ่มเติม
- เพื่อเป็นคุณสมบัติให้สามารถสมัครเข้าทำงานได้
- เพื่อเป็นเครื่องมือในการหาความรู้
- เพื่อให้สอบวิชานี้ได้ จะได้จบการศึกษา
- เพื่อมีเพื่อนใหม่เป็นชาวต่างชาติ
- เพื่อการท่องเที่ยวในต่างแดน
- เพื่อหาความเพลิดเพลิน เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ
- เพื่อช่วยเหลือคนอื่น
- เพื่อ ฯลฯ และ ฯลฯ
ข้อ 1 นี้เราจะต้องสามารถตอบตัวเองให้ชัด เราจะได้มุ่งเป้าเพื่อทำสิ่งนั้นเป็นอันดับ 1, 2, 3… ไม่ใช่ทำมันไปซะทุกอย่าง ผลสุดท้ายเลยทำให้ดีไม่ได้สักอย่าง ทั้งนี้เพราะว่าเรามีเงิน, เวลา, ทรัพยากร ฯลฯ จำกัด เราจึงต้องวางแผนว่า เราจะเอาไปใช้ฟิตอังกฤษเพื่อวัตถุประสงค์อะไรที่เจาะจง

2. เมื่อหาวัตถุประสงค์ที่เจาะจงได้แล้ว เราก็ต้องถามตัวเองต่อไปอีกว่า ทักษะสุดท้ายที่เราต้องการให้เกิดขึ้นคืออะไร เช่น
- จะต้องพูดได้คล่องปรื๋อไม่ติดขัดเลย
- ดูหนังฝรั่งรู้เรื่องโดยไม่ต้องอ่าน subtitle ภาษาไทย
- อ่านหนังสือพิมพ์ฝรั่งได้ง่าย ๆ เหมือนอ่านไทยรัฐ เดลินิวส์
- เขียนจดหมายโต้ตอบกับฝรั่งโดยไม่ต้องนั่งนึกนาน
- ฯลฯ
และแม้ว่าจริง ๆ แล้วเราอาจจะอยากเก่งไปซะทุกเรื่อง แต่เราก็ต้องเลือก "จัดลำดับความอยาก" เพื่อทำให้เกิดทักษะ 1, 2, 3... ไปตามลำดับ คือจัด % ของเวลาหรือความพยายามอย่างเหมาะสมให้กับแต่ละทักษะที่จะฝึก

3. พอรู้ว่าคำตอบสุดท้ายคืออะไรแล้ว ก็ต้องถามตัวเองว่าเรามีทรัพยากรอะไรบ้าง ที่จะช่วยให้เราเดินทางไปถึงที่หมาย เช่น
- เรามีเวลาว่างที่สามารถเจียดให้กับการฟิตภาษาอังกฤษวันละกี่ชั่วโมง หรือเราสามารถลดเวลาในการทำกิจกรรมอย่างอื่นมาเพิ่มให้กับการเรียนภาษาอังกฤษได้หรือไม่ ได้เท่าไร
- เราสามารถแทรกการฟิตภาษาอังกฤษเข้าไปในกิจกรรมประจำวันของเราได้หรือไม่ อย่างไร
- เรามีเงินซื้ออะไรได้เพิ่มเติมบ้าง เพื่อทำให้การฟิตภาษาอังกฤษของเราง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เช่น ติดตั้ง high speed Internet
- มีเพื่อน หรือมีใครบ้างไหมที่เราสามารถขอความช่วยเหลือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาภาษาอังกฤษด้วยตนเองที่เรากำลังพยายามอยู่
- ฯลฯ

4. มีอะไรที่เป็นจุดอ่อนที่เรามักจะแพ้ตัวเอง จนทำให้การฟิตภาษาอังกฤษของเราไปไม่ถึงไหนซะที เช่น
- พอเราเบื่อหรือง่วง เราจะหยุดทันที เราแพ้ตัวเองทุกครั้ง
- เราอ่อนศัพท์ และไม่ยอมลงทุนเพื่อเพิ่มคำศัพท์
-เราอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง และไม่ยอมทนฝึกตีความด้วยตัวเอง เราชอบแต่จะถามคนอื่นว่าประโยคนั้นประโยคนี้หมายความว่าอย่างไร แต่เราไม่ชอบคิดเอง ตีความหมายด้วยตัวเอง
-เราใจร้อนเกินไป และรู้สึกท้อง่ายเกินไป พอฟังหรืออ่านไม่ค่อยรู้เรื่องก็ไม่อยากทนฝึกต่อ
- เราละเลยตารางฝึกที่เราตั้งไว้ให้ตัวเองทำ และละเลยอย่างง่ายดาย เรามีข้อแก้ตัวเสมอที่จะไม่ทำตามการบ้านภาษาอังกฤษที่เราให้แก่ตัวเอง
-เราไม่กล้าฝึกพูดแม้เราอยากจะพูดเป็น
-เราไม่กล้าทำอะไรแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่เรารู้ว่าจะช่วยพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ แม้รู้ว่าทำแล้วดี
-ฯลฯ

ถ้าท่านตอบคำถามข้างต้นได้ครบถ้วน อย่างตรงไปตรงมา ชัดเจน และเจาะจง ก็ถึงเวลาแล้วที่ท่านจะต้องวางแผนฟิตภาษาอังกฤษของตัวท่านเอง ว่าในวันหนึ่ง สัปดาห์หนึ่ง หรือเดือนหนึ่ง ท่านจะทำอะไรบ้าง ทำอย่างละกี่นาที และห้ามขาด ถ้ามีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่สามารถทำได้ตามตารางที่วางไว้ ก็รีบไปทำเพิ่มชดเชยในวันถัดไป

เปรียบเทียบเหมือนกับการเป็นโรคเพื่อรักษาอาการภาษาอังกฤษไม่ค่อยแข็งแรง ท่านจะต้องวินิจฉัยโรคของตัวเอง และปรุงยาให้ตัวเอง ไม่มีใครทำแทนท่านหรอกครับ เรื่องอย่างนี้ท่านต้องทำเอง
สารพัดเว็บที่ผมแนะนำไว้ใน Blog นี้ (คลิกและอ่าน ถาม-ตอบ ข้อที่ 1,2,3,4) คือยาที่ท่านสามารถหยิบขึ้นมารักษาโรคภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงที่ท่านประสบอยู่ แต่ทั้งหมดนี้ท่านต้องทำเอง คือ 1.วางแผนเรียนเอง และ 2.ลงมือเรียนเอง ไม่มีใครช่วยท่านได้หรอกครับ

ผมยังเข้าข้างตัวเองว่า คำตอบของผมไม่ได้ไร้น้ำใจจนเกินไป

พิพัฒน์ 

7 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เป็นคำแนะนำที่เยี่ยมมากค่ะ คุณพิพัฒน์ เหมือนหิวข้าวแต่ไม่ยอมกินเองให้คนอื่นกินแทนอย่างงี้เมื่อไหร่จะอิ่มนะ เข้าตำรา"อยากได้ต้องทำเองค่ะ...อยากเก่งต้องขยัน" ล้มแล้วต้องลุกไม่นอนอยู่อย่างนั้นขวางทางคนอื่นและตนเอง ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลังพยายามและตัวดิฉันเองด้วยค่ะ
จาก..สมาชิกหมายเลข0

Unknown กล่าวว่า...

เป็นคำตอบที่ถูกที่สุดค่ะ

ตัวเราอยากได้เอง ต้องเริ่มเอง

peraka กล่าวว่า...

ทำอะไรก็ได้ ที่ไม่ฝืนใจตัวเอง วางแผน และลงมือทำ ถ้าทำด้วยความชอบ ทุกอย่างก็จะสำเร็จ สู้ๆนะ พวกเรา.
“ I can do it by myself ”

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

bkkll.

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

กำลังพยายามอยู่คะ คนมีโอกาสในการเรียนน้อยคะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เห้นด้วย และขอบคุณมากในความเอื้อเฟื้อ ความคิดที่เป็นขั้นเป็นตอนสามารถนำไปใช้ได้จริง
"ถ้าคิดจะขึ้นที่สูงต้องตั้งใจและมุ่งมั่นพยายามให้ถึงที่สุด
ความพยายามที่ครึ่งๆกลางๆก็เสมือนไร้ซึ่งความพยายาม
เสียเวลาเหมือนกันแต่ไร้ผลผลลัพธ์กลับมา
เหนื่อยปล่าว"

tae กล่าวว่า...

ได้ข้อคิดเยอะเลยครับ จะตั้งใจฝึกครับ