วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2551

[117]เล่นเกมภาษา+ฟิตภาษา ถ้าไม่อยากเป็นอัลไซเมอร์

สวัสดีครับ
โรคอัลไซเมอร์คือพอแก่แล้วชักขี้หลงขี้ลืมนี้สำหรับหลายท่านที่ล่วงเข้าวัยเกินเที่ยงวันรวมทั้งตัวผมเองด้วยคงจะเจอด้วยตัวเองมาบ้างไม่มากก็น้อย ยกตัวอย่างเรื่องง่าย ๆ เช่น ไม่แน่ใจว่าปิดไฟหรือยัง ปิดน้ำหรือยัง ล็อกลูกบิดหรือยัง หรือกินยาหรือยัง เป็นต้น ผลเสียเบา ๆ ของโรคนี้อาจจะแค่หงุดหงิดรำคาญตัวเอง แต่ถ้าเป็นมาก ๆ อาจจะทำให้ชีวิตผันแปรไปเลย ซึ่งคงไม่มีใครอยากเป็น

หน่วยงานที่มีชื่อว่าศูนย์ฟิชเชอร์เพื่อมูลนิธิการวิจัยโรคอัลไซเมอร์ (The Fisher Center for Alzheimer's Research Foundation) ได้เผยแพร่งานวิจัยเรื่อง Keep Your Brain Fit
หรือคลิก Keep Your Brain Fit - วางเมาส์บนคำศัพท์เพื่อดูคำแปล

โดยกล่าวถึงวิธีป้องกันและชะลออาการของโรคอัลไซเมอร์ 6 วิธีดังนี้

1.Use it or lose it. ออกกำลังสมองอยู่เสมอ
2.Exercise. ออกกำลังกายอยู่เสมอ
3.Eat smart. กินผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสีมาก ๆ
4.Don't drink to excess. อย่าดื่มเกินพอดี หรือไม่ดื่มเลยยิ่งดี
5.See your friends. พบปะไปมาหาสู่กับเพื่อน
6.Relax. ทำใจให้สบาย รู้จักหาความสุขจากสิ่งง่าย ๆ


เฉพาะข้อ 1 คือ ออกกำลังสมองอยู่เสมอ ถ้าไม่ใช้ให้สมองทำงาน สมองก็จะค่อย ๆ เลิกทำงาน หรือ Use it or lose it มีประเด็นที่น่าสนใจมาก เขาว่าไว้อย่างนี้ครับ
“Use it or lose it. The more you challenge your brain and mind, the less likely it may be to fail you. One major study found that seniors who engaged in mentally stimulating hobbies like reading books or playing board games lowered their risk of developing Alzheimer's. The more frequent they engaged in stimulating activities, the greater the benefits. Activities like crossword puzzles, playing word games like Scrabble, studying a foreign language, or learning to play a musical instrument may all help to keep the brain and mental functions sharp and agile into the sunset years.”
“ยิ่งคุณใช้ให้สมองทำงานมากเท่าใด สมองก็จะทำให้คุณผิดหวังน้อยเท่านั้น งานวิจัยขนาดใหญ่ชิ้นหนึ่งพบว่าผู้สูงอายุซึ่งมีงานอดิเรกที่กระตุ้นความคิด เช่น อ่านหนังสือ หรือเล่มเกมกระดาน มีโอกาสน้อยลงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ยิ่งใช้สมองกับกิจกรรมพวกนี้บ่อยเท่าไรก็ยิ่งได้รับผลดีมากเท่านั้น กิจกรรมอย่างเช่น การเล่น ปริศนาอักษรไขว้ (crossword puzzle), word games อย่างเช่น Scrabble, การศึกษาภาษาต่างประเทศ, หรือการฝึกหัดเล่นเครื่องดนตรี ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้อาจจะช่วยให้สมองทำงานได้อย่างคึกคักว่องไวในช่วงวัยสนธยาของชีวิต”

กล่าวสำหรับคนไทยที่ศึกษาภาษาอังกฤษ การศึกษาของสถาบันวิชาการดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นชัดเลยว่า จะศึกษาภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นการฟัง-พูด-อ่าน-เขียน หรือการเล่นเกมภาษาที่เรารู้จักกันดี เช่น crossword, Scrabble, hangman นอกจากได้ความรู้ ได้ทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ และได้ความเพลิดเพลินแล้ว ยังช่วยให้สมองฟิต ไม่แก่ไปตามวัยอีกด้วย

ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมนักวิจัยเขาถึงได้ยกตัวอย่างเกมภาษาและการศึกษาภาษาต่างประเทศว่าช่วยทำให้สมองฟิต ( Keep Your Brain Fit) เรื่องนี้ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่าในหนังสือพิมพ์รายวันหรือเว็บข่าวต่าง ๆ ของต่างประเทศมักจะมีเกมพวกนี้ไว้ให้เล่น ตอนไปเมืองนอกไม่ว่าจะอยู่บนเครื่องบินหรือรถโดยสารสาธารณะ บ่อยครั้งที่ผมได้เห็นฝรั่งเอาดินสอมาเติมคำในหน้า crossword ของหนังสือพิมพ์ นี่แสดงว่าฝรั่งเขาเห็นประโยชน์ของเกมพวกนี้ เพราะแม้ว่าการเล่นเกมจะไม่ได้ช่วยให้เขารู้ศัพท์เพิ่มขึ้นเพราะเขาเป็นเจ้าของภาษาอยู่แล้ว แต่เกมจะช่วยดึงศัพท์ในสมองของเขาออกมาเมื่อเขาเรียกใช้มัน ทำให้สมองได้ออกกำลังและกระฉับกระเฉงว่องไว และทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องมีผู้อ่านจำนวนมากพอสมควรที่เล่นเกมภาษาเช่นนี้ หนังสือพิมพ์หรือเว็บจึงได้เอาเกมภาษาใส่เข้าไปเป็น section ประจำของเขา ถ้าไม่มีผู้เล่นเขาก็คงไม่ยอมเสียหน้ากระดาษหรือหน้าเว็บไปเปล่า ๆ

เท่าที่เคยสังเกตและสอบถามเพื่อน ๆ และน้อง ๆ ว่าทำไมไม่ชอบเล่นเกมภาษาอย่าง crossword, Scrabble, หรือ hangman คำตอบมาตรฐานที่ได้รับคือไม่รู้ศัพท์ เลยเล่นไม่ได้- ไม่อยากเล่น หรือบางคนที่รู้ศัพท์ก็มองไม่เห็นว่ามันจะมีประโยชน์ตรงไหนในการเอาศัพท์มาเติมหรือต่อลงไป ผมเองแม้ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์แต่ก็ขอยืนยันว่า เกมภาษาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 เกมที่กล่าวนี้มีประโยชน์แน่ ๆ ต่อการศึกษาภาษาอังกฤษและการออกกำลังสมอง ไม่ว่าท่านจะรู้ศัพท์มากหรือน้อยก็ตาม

ทำไมผมถึงพูดอย่างมั้นใจเช่นนี้ ?

ก็เพราะว่า ในการเล่นทั้ง 3 เกม คือ crossword, Scrabble, hangman ท่านต้องนึกถึงคำศัพท์ที่จะใช้เติมหรือต่อ คำศัพท์ที่ท่านเติมลงไปด้วยความมั่นใจว่าถูกต้องจะเป็นฐานให้ท่านใช้เติมศัพท์ตัวอื่น ๆ ที่ท่านไม่รู้หรือไม่ค่อยจะแน่ใจลงไปในภายหลัง ทำให้ท่านเล่นเกมเดินหน้าต่อไปได้ หรือท่านอาจจะต้องถอยหลังกลับมาแก้ศัพท์ที่เติมลงไปแล้วเพราะเบื้องแรกคิดว่ามันถูกแต่มันไม่ถูก การคิดโยงไปโยงมาอย่างนี้ก็คือการใช้เหตุผลตามหลักตรรกะนั่นเอง เป็นตรรกะทางภาษาที่ช่วยให้สมองฟิต และไม่ว่าท่านจะทำได้มากหรือ น้อย เมื่อท่านเล่น - ท่านได้ออกกำลังสมองแน่นอน เพราะฉะนั้นท่านไม่จำเป็นต้องหงุดหงิดหรือเลิกเล่นเมี่อทำไม่ได้ ท่านอาจจะหาเกมเล่นในระดับที่ยาก-ง่ายพอฟัดพอเหวี่ยงกับท่าน จะได้รู้สึกสนุกว่าทำได้สำเร็จ ขณะเดียวกันก็ได้ฟิตสมองด้วย

ผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง แต่ถ้าให้ผมเดาตามสิ่งที่เคยศึกษามา(ซึ่งน่าจะเดาได้ไม่ผิดความจริงนัก) ก็ขอเดาว่า สมองของคนเรามีหลายส่วน เช่น ส่วนที่ทำงานด้านภาษา ด้านการคิดคำนวณ ด้านศิลปะ อารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ การวางแผน การวิเคราะห์ และอื่น ๆ การที่เราฝึกภาษาต่างประเทศคือภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาที่ยีนส์ตอนคลอดของเราไม่คุ้นเคย และการที่ได้เล่นเกมภาษา ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความจำสิ่งใหม่ ๆ การระลึกสิ่งเก่า ๆ การคิดเชิงตรรกะหาเหตุผลเอาของเก่าและของใหม่มาผสมกันเพื่อให้ได้คำตอบ การออกกำลังกายสมองทั้งหมดนี้ มิได้ทำให้เซลสมองส่วนภาษาเท่านั้นที่แข็งแรงขึ้น แต่สมองส่วนอื่น ๆ ทั้งหมดก็พลอยถูกกระตุ้นตามไปด้วย ไม่มากก็น้อย

ที่ลิงค์ข้างล่างนี้ ขอเชิญชวนท่านเลือกเล่นเกมภาษาที่ท่านสนใจ เชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อทั้งด้านภาษาและสมองแน่นอน ขอเชิญครับ

[16] เล่น Scrabble กระตุ้นต่อมศัพท์
[47] เล่น Hangman เพิ่มคำศัพท์
[63] เล่นเกม crosswords สนุก & เพิ่มศัพท์
[97] อยากให้คุณติดเกมส์ !
[101] ทำ Crossword และ Hangman ไว้เล่นเอง
http://www.esl-galaxy.com/crosswords.htm
http://www.geocities.com/whiteheron911/crosswordpuzzles.htm
http://www.google.co.th/search?hl=th&q=related:www.esl-galaxy.com/crosswords.htm

และถ้ามีเวลาก็เชิญไปที่นี่เพื่อเล่นเพิ่มเติมครับ
เกม - การ์ตูน

พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com

ไม่มีความคิดเห็น: