วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2551

[133]รวม ‘คำกริยา’ ภาษาไทย เทียบ ‘verb’ ภาษาอังกฤษ

สวัสดีครับ
ผมถามตัวเองว่าในภาษาไทยมี verb หรือคำกริยากี่คำ ? แล้วก็พยายามหาว่ามีใครรวบรวมไว้หรือไม่ หาเท่าไรก็หาไม่พบ ซึ่งต่างจากภาษาอังกฤษ หากผมต้องการรู้ว่า verb ในภาษาอังกฤษมีคำอะไรบ้างก็สามารถหาได้ไม่ยากนัก

เหตุที่ผมอยากรู้จำนวนคำกริยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำกริยาพื้นฐานที่ใช้บ่อย ๆ ในภาษาไทยก็เพราะว่า ถ้าเรามีคำพื้นฐานพวกนี้เก็บไว้ในสมอง และเรียนรู้คำแปลภาษาอังกฤษไปพร้อมกัน เมื่อถึงเวลาที่เราต้องพูดภาษาอังกฤษ เราจะพูดได้ง่ายขึ้นเยอะทีเดียว ผมคิดว่าสำหรับพวกเราที่ยังไม่สามารถคิดเป็นภาษาอังกฤษได้โดยอัตโนมัติ การคิดเป็นภาษาไทยและรู้คำแปลเป็นภาษาอังกฤษไว้ก่อน จะช่วยให้เราไม่ติดขัดมากนักเมื่อถึงเวลาต้องพูดภาษาอังกฤษ และจากประสบการณ์ของผม แม้ในขั้นแรกเราจะเริ่มต้นการพูดด้วยการคิดเป็นภาษาไทยก่อน แต่ถ้าเราฝึกพูด-ฝึกฟัง-ฝึกอ่านไปเรื่อย ๆ เราก็จะเริ่มคิดเป็นภาษาอังกฤษมากขึ้น และสามารถพูดเป็นภาษาอังกฤษโดยไม่ต้องคิดเป็นภาษาไทยก่อน

คำในภาษาไทยที่เราเรียนจาก ‘วิชาหลักภาษาไทย’ (ผมไม่รู้ว่าสมัยนี้เขายังเรียนกันอยู่หรือเปล่า) ซึ่งมีอยู่ 7 จำพวก คือ คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา คำวิเศษณ์ คำบุพบท คำสัณธาน และคำอุทานนั้น ผมเข้าใจว่าคำที่มีจำนวนมากที่สุดมีอยู่ 3 พวกเท่านั้น คือคำนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์ ส่วนคำสรรพนาม คำบุพบท คำสัณธาน และคำอุทานนั้น เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วมีไม่กี่คำหรอกครับ

ผมอยากจะเห็นผู้รู้เขารวมรวมแยกแยะไว้ว่า ภาษาไทยมีคำนามกี่คำ มีคำกริยากี่คำ มีคำวิเศษณ์กี่คำ แต่เนื่องจากภาษาเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิด-แก่-เจ็บ-ตายตลอดเวลา ยิ่งมีการถ่ายเทไหลเวียนไปมากับภาษาอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษในโลกสรรพวิชามหาศาลเช่นทุกวันนี้ การรวบรวมชนิดของคำไทยให้เป็นหมวดหมู่อย่างที่ผมอยากเห็นจึงไม่ใช่ของง่าย แต่ถึงแม้จะยากผมก็ยังอยากเห็นว่ามีคนทำขึ้น

เมื่อหาอยู่นานก็ยังไม่พบ ผมก็เลยตัดสินใจทำเอง วิธีทำก็ง่าย ๆครับ คือซื้อพจนานุกรมไทยมาเล่มหนึ่ง เปิดไปทีละหน้าและอ่านผ่านไปทีละบรรทัด, ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย, ก. ไก่ ถึง ฮ. นกฮูก, เมื่อพบคำกริยาที่ใช้พูดบ่อย ๆ ก็เอาปากกาไฮไลต์ขีดไว้ พอขีดจบเล่มแล้วก็เอามาพิมพ์ (ซึ่งท่านจะได้เห็นท้ายหัวข้อนี้)

ด้วยการทำวิธีนี้ ผมพบอะไรบางอย่างที่อยากจะเล่าสู่กันฟังกับท่านผู้อ่าน

1. คำกริยาจำนวนมากในภาษาไทยเกิดมาพร้อมกับสังคมเกษตรกรรมที่มีกลิ่นอายของท้องทุ่งท้องนาและหมู่บ้านชนบท เมื่อสังคมไทยกลายจากสังคมเกษตรเป็นสังคมอุตสาหกรรม คนไทยจึงใช้คำของสังคมดั้งเดิมน้อยลงหรือบางคำก็เลิกใช้ไปเลย ผมกำลังคิดว่าอาจจะมีวันหนึ่งข้างหน้าที่มีคนรวบรวมคำและเขียนเป็นหนังสือ “พจนานุกรม คำไทยที่ตายแล้ว” ผมขอยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น คำว่า ‘ดง’ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการหุงข้าวให้สุกสมัยที่เรายังไม่ได้ใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้า ไม่แน่ใจว่าน้อง ๆ สมัยนี้รู้จักคำนี้หรือเปล่า หรือคำว่า ‘หาบ’ กับ ‘หาม’ ต่างกันยังไงใครตอบได้โดยไม่ต้องนึกบ้าง นี่แค่ตัวอย่างง่าย ๆ นะครับ

2. เมื่อพลิกไปทีละหน้าอย่างที่บอก ผมเริ่มรู้สึกว่า บางครั้งเป็นการยากมากจริง ๆ ที่จะตัดสินว่าคำใดเป็นคำกริยา หรือคำวิเศษณ์ ยกตัวอย่าง คำว่า ‘ตกค้าง’ หรือ ‘ซาบซึ้ง’ ในพจนานุกรมบอกว่าเป็นคำวิเศษณ์ แต่ผมสงสัยว่าจะให้เป็นคำกริยาด้วยไม่ได้หรือ แต่ผมก็มักจะเคารพท่านราชบัณฑิต คำใดที่ท่านบอกว่าเป็นคำวิเศษณ์ผมก็ไม่กล้าเอาปากกาไฮไลต์ขีดเพื่อดึงมาเป็นคำกริยาใน list ที่ผมกำลังรวบรวมนี้ แต่ก็อดนึกไม่ได้ว่ามันน่าจะถึงเวลาที่เราคนไทยน่าจะช่วยกันทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับภาษาไทยของเราเอง

3. มีอยู่สิ่งหนึ่งซึ่งเตะใจผมมาก คือความสามารถในการ ‘แตกลูก’ คำกริยาของภาษาไทย ผมไม่แน่ใจว่ามันตรงกับคำว่า ‘two-word verb’ ในภาษาอังกฤษหรือเปล่า ยกตัวอย่าง เช่น คำว่า ‘กิน’ เมื่อเอาคำอื่นมาผสมก็เกิดเป็นคำใหม่ความหมายใหม่อีกมากมาย น่าสังเกตว่าคำกริยาประสมในภาษาไทยมีเยอะ แต่คำกริยาโดด ๆ มีไม่ค่อยมากเท่าไหร่นะครับ หรือท่านเห็นว่าอย่างไรครับ list คำกริยาที่รวมรวมมานี้ผมเน้นที่คำกริยาโดดและคำกริยาผสมที่ใช้บ่อย แต่ก็อีกนั่นแหละครับ คำว่า ‘บ่อย’ ก็ไม่มีเกณฑ์วัดที่แน่นอน

พูดมามากแล้วผมขอสรุปดื้อ ๆ ว่า
ผมดึงคำกริยา หรือ verb ในภาษาไทยที่ผมเห็นว่าใช้บ่อย รวบรวมไว้ข้างล่างนี้ หากเกิดความผิดพลาดต้องขออภัยด้วยนะครับ หลายครั้งที่นั่งทำในรถตู้โดยสารตอนเช้า – เย็น ระหว่างบ้านกับที่ทำงาน, list ที่ออกมาอาจจะไม่ค่อยเรียบร้อยนัก

ผมได้อาศัยเว็บ http://www.thai2english.com/ ช่วยแปลคำกริยาในภาษาไทยให้เป็น verb ในภาษาอังกฤษ (เพียงวางเมาส์บนคำศัพท์ก็จะเห็นคำแปล) แต่เรื่องที่ต้องเรียนเพื่อขอให้ท่านสังเกตก็คือ ท่านต้องเลือกให้ดีว่า verb (หรืออาจจะเป็น adjective ก็ได้) ในภาษาอังกฤษคำใดที่มีความหมายเหมาะสมที่สุดกับคำกริยาในภาษาไทย

ถ้าคำกริยาใดวางเมาส์แล้วไม่มี verb แสดงให้เห็น ก็หมายความว่า database ของเว็บ thai2english.com ไม่มีคำนี้ อาจจะต้องหาคำแปลเอาเอง

ผมหวังว่า list รวม ‘คำกริยา’ ภาษาไทย เทียบ ‘verb’ ในภาษาอังกฤษข้างล่างนี้จะช่วยให้ท่านพบความเพลิดเพลินไม่มากก็น้อยในการศึกษาภาษาอังกฤษและภาษาไทยของเราเอง
* * * *

list รวม ‘คำกริยา’ ภาษาไทย
หน้าที่: 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16

list รวม ‘คำกริยา’ ภาษาไทย + คำแปลภาษาอังกฤษเมื่อวางเมาส์บนคำกริยานั้น
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อยากอ่านเขียนภาษาอังกฤษเปงบอกวิธีได้ไหมคะ

pipat - blogger กล่าวว่า...

เลือกอ่านคำแนะนำจากลิงค์นี้ครับ - พิพัฒน์
http://freeenglishstudy.blogspot.com/2007/05/blog-post_3914.html

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สู้ๆ พี่