วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2551

[119]เชิญดาวน์โหลดศัพท์พื้นฐาน 5000 คำพร้อมคำแปล

สวัสดีครับภาษาอังกฤษ หรือภาษาใด ๆ ก็ตาม มี 4 ทักษะให้ศึกษา คือ ฟัง – อ่าน – พูด – เขียน
ฟังกับอ่านเป็น passive skill คือแค่เข้าใจ อ่านแล้วเข้าใจ ฟังแล้วเข้าใจ ไม่ต้องแสดงออก

ส่วนพูดกับเขียนเป็น active skill คือต้องแสดงออก พูดหรือเขียนออกไปให้คนฟังหรือคนอ่านรู้เรื่อง

ทั้ง ฟัง – อ่าน – พูด – เขียน หรือทั้ง passive skill และ active skill จะต้องฝึกฝนและใช้งานไปพร้อม ๆ กัน แม้ปริมาณของการฝึกแต่ละอย่างอาจจะไม่เท่ากันก็ตาม

และมีอยู่ 2 สิ่งที่ผมเชื่อว่าเป็นเสาเข็มของการฝึก 4 ทักษะนี้ คือศัพท์และไวยากรณ์ของภาษาอังกฤษ

เพราะถ้าไม่รู้ศัพท์หรือรู้น้อยเกินไป การฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ดูมันจะติดขัดไปหมด

และถึงแม้จะรู้ศัพท์ แต่ถ้าไม่รู้วิธีเอาศัพท์มาผูกเป็นวลีหรือประโยค ก็อาจจะแค่เข้าใจตอนฟังหรืออ่าน แต่จะลำบากเมื่อต้องพูดหรือเขียนให้คนอื่นฟังหรืออ่าน

ใน Blog นี้จึงมีสารพัดเรื่องให้ท่านศึกษาตามความจำเป็นของท่าน ไม่ว่าจะเป็น listening speaking reading writing grammar vocabulary หรือเรื่องอื่น ๆ
และวันนี้ผมขอพูดเรื่องศัพท์อีกครั้งนะครับ

โดยทั่วไปเมื่อเราศึกษาภาษาอังกฤษ เราจะค่อย ๆ สะสมศัพท์ในสมองของเราทีละคำสองคำจากการอ่านและการฟัง และก็เอาศัพท์ที่จำได้นี้ไปใช้ในการพูดและเขียน เพราะฉะนั้น ยิ่งอ่านมากและฟังมากเท่าใดก็ยิ่งมีทรัพยากรศัพท์มากเท่านั้นที่จะใช้พูดและเขียน เปรียบไปก็เหมือนเครื่องปรุงอาหาร ถ้ามีมากเท่าไรก็จะสามารถปรุงอาหารได้หลากหลายประเภทเท่านั้น

ผมมานั่งนึกว่า จะมีวิธีใดบ้างไหมที่จะทำให้เรารู้ศัพท์เร็วขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เก็บศัพท์ทีละคำสองคำที่ได้จากการอ่านหรือการฟัง โดยศัพท์ที่ว่านี้ในขั้นแรกขอเพียงอ่านและฟัง ‘เข้าใจ’ ก็พอแล้ว ส่วนเรื่องการ ‘ใช้เป็น’ เมื่อถึงเวลาพูดและเขียนก็ค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง

‘ทางลัด’ ในการเพิ่มคำศัพท์ที่ผมเห็นชัด ๆ มีอยู่ 2 วิธีครับ คือ
วิธีที่ 1. exercise หรือ test คือการทำแบบฝึกหัดบ่อย ๆ คือแทนที่เราจะค่อย ๆ เจอศัพท์ทีละคำ ๆ เมื่ออ่านหนังสือ ฟังข่าว ดูหนัง แบบฝึกหัดหรือ test พวกนี้ก็จะรวบรวมศัพท์พวกนั้นมาไว้ในที่เดียวกันให้เราฝึกหัด – ทดสอบ – และจดจำ หากตั้งใจฝึกด้วยสมาธิไม่วอกแวก ก็จะเพิ่มคำศัพท์ได้เร็วทีเดียว คลิกทำ Test
วิธีที่ 2. คือการเล่น game คำศัพท์ ข้อดีของเกมคือมันท้าทายและสนุก เมื่อสนุกก็จะจำได้เร็วและอยากเล่นบ่อย ๆ คลิกเล่น game

ผมกำลังนึกถึงอีกวิธีหนึ่งคือการจำศัพท์โดยใช้ dictionary เป็นเครื่องมือ เท่าที่สังเกตดูไม่ค่อยมีใครสนใจวิธีนี้มากนัก ถ้าใคร ‘ท่องดิก’ ก็จะถูกมองว่าบ้า

ผมเองก็ไม่แนะนำให้ใช้วิธีท่องดิกหรอกครับ เพราะผมเห็นว่าการจำศัพท์โดยท่องดิก ไม่ realistic, ไม่ practical แต่ผมขอแนะนำวิธีใกล้เคียงซึ่งน่าจะได้ผล ดังนี้

วิธีที่ 1: คือ dictionarying ผมเคยพูดเรื่องนี้ไว้แล้วที่ลิงค์ข้างล่างนี้ เชิญท่านคลิกอ่านดูได้ครับ
[3] 'เกม 'dictionarying: - - สนุกและท้าทาย !
[82]ดูศัพท์–จำศัพท์–พูดได้ไม่ติดศัพท์ (dictionarying)

วิธีที่ 2: คือการใช้ประโยชน์จาก word list
พวกฝรั่งนี่เขาดีอย่างหนึ่งนะครับ ตั้งแต่ยุคที่คอมพิวเตอร์ยังไม่เฟื่องฟูเขาก็มีการทำ word list ขึ้นมาแล้ว คือเขาประมวลและศึกษาคำศัพท์ทั้งหมดที่ใช้ในภาษาอังกฤษ แล้วก็จัดทำเป็น list ว่า มีคำอะไรบ้างที่ใช้บ่อย เช่น คำพื้นฐาน 500 คำแรก, 1000 คำแรก, 2000 คำแรก, 5000 คำแรก, 10000 คำแรก เป็นต้น ตอนจะทำตำราให้เด็กเรียนก็จะกำหนดเลยว่าศัพท์ที่ใช้ในตำราจะต้องเป็นคำพื้นฐานไม่เกินช่วงนั้นช่วงนี้ เด็กก็จะค่อย ๆ เรียนจากง่ายไปยากขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อถึงยุคที่มีคอมพิวเตอร์ การทำ word list ก็ง่ายดายขึ้น คือเขาจะมีระบบที่รวบรวมเนื้อหาภาษาอังกฤษทั้งหลายเป็นล้าน ๆคำ หรือหลายสิบล้านคำ ทั้งจากสิ่งตีพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น ทางวิทยุหรือโทรทัศน์ เอามารวบรวมไว้ในคลังศัพท์ของเขาที่เรียกว่า corpus แล้วก็ให้คอมพิวเตอร์แยกแยะหรือ tally ออกมาว่า คำอะไรที่ใช้บ่อย 1000 คำแรก, 2000 คำแรก เป็นต้น มีหลายสำนักที่ทำอย่างนี้ ก็ได้ word list ออกมาหลาย ๆ list ซึ่งเนื้อหาในแต่ละ list ก็ไม่น่าจะต่างกันมากนัก

เท่าที่สังเกตดู word list เหล่านี้จะมีการเรียง 2 แบบ คือ
แบบที่ 1 เรียงตามตัวอักษร a, b, c, d,….
แบบที่ 2 เรียงตาม frequency คือความบ่อยที่พบในคลังศัพท์ที่เขารวบรวมไว้ ยิ่งเจอบ่อยมากเท่าไรก็แสดงว่ามีคนใช้พูดหรือเขียนมากเท่านั้น

และเราในฐานะผู้เรียนภาษาอังกฤษ ถ้าศึกษาคำศัพท์จาก frequency list เหล่านี้ ก็ค่อนข้างแน่ใจว่า คุ้มค่าที่ลงทุนจำ เพราะจำไปแล้วมีโอกาสสูงที่จะได้พบเมื่อเราอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ท่องเว็บ ดูหนัง ฯลฯ
ที่ท่านอ่านตั้งแต่ต้นมาจนถึงบรรทัดนี้คืออารัมภบทที่ยาวมากทีเดียว ส่วนที่ผมตั้งใจจะบอกท่านวันนี้ก็คือว่า ผมได้รวบรวม word list 5000 คำจาก The Brown Corpus of Standard American English ที่เว็บนี้ ซึ่งเขารวบรวมมาจากคำที่พบบ่อยในหนังสือพิมพ์, นิตยสาร หนังสือเล่มต่าง ๆ เป็นศัพท์ทั่วไปที่ไม่เน้นคำทางวิชาการ ผมเอามาลงตาราง excel ให้ท่านดาวน์โหลด ขนาดประมาณ 2 MB และพร้อมกันนี้ก็ได้อาศัยบริการของเว็บ http://dict.longdo.com/ ช่วยแปลศัพท์ใน list นี้เป็นภาษาไทยโดยทำเป็นไฟล์ขนาดประมาณ 12 MB ที่ท่านต้องเปิดดูโดยใช้คอมพิวเตอร์ ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์นี้เก็บไว้ได้เลยและสามารถเปิดใช้ได้อีกโดยไม่ต้องต่อเน็ต วิธีใช้ก็เพียงวางเมาส์บนคำศัพท์ก็จะมีคำแปลปรากฏให้เห็น

หมายเหตุ 2  กุมภาพันธ์ 2556 ใช้แทนไฟล์เดิม ที่เสีย
   คำศัพท์พื้นฐาน 3,000 คำของดิก Oxford แปล อังกฤษ – ไทย - คลิกดาวน์โหลด

ผมเชื่อว่าหลายท่านรู้ศัพท์ทุกคำใน list นี้แล้ว แต่สำหรับท่านที่เริ่มปูพื้นฐานศัพท์ให้แก่ตัวเอง ศัพท์ 5000 คำนี้เป็นพื้นฐานที่ดีให้ท่านทบทวนและจดจำพร้อม ๆ ไปกับการศึกษาภาษาอังกฤษของท่านด้วยวิธีปกติ คือ ฟัง – พูด – อ่าน – เขียน

ผมขอแนะนำเป็นพิเศษว่า ก่อนที่ท่านจะวางเมาส์ลงบนศัพท์คำใด ให้ท่านลองนึกก่อนว่า
1. ศัพท์ตัวนี้เป็นคำอะไรบ้าง เช่น อาจจะเป็นทั้ง noun, verb และ adjective
2. คำแต่ละประเภทมีความหมายอะไรบ้าง คำ ๆ หนึ่งอาจจะมีถึง 5 ความหมาย เราอาจจะนึกออกเพียงแค่ 2 ความหมาย

เมื่อท่านเข้าไปในไฟล์คำศัพท์พร้อมคำแปลไทยท่านจะพบว่า ฐานข้อมูลศัพท์ อังกฤษ – ไทยที่ใช้ในการแปลมาจาก 3 แหล่งคือ
1. ฐานข้อมูล Lexitron ของ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ขอให้สังเกตว่า ที่ท้ายบรรทัดจะมีคำว่า Lex
2. ฐานข้อมูล Dict Hope จะมีคำว่า Hope ที่ท้ายบรรทัด เฉพาะ Hope เท่านั้นที่มีคำอ่านให้ดู โดยมีเครื่องหมาย stress ท้ายพยางค์ที่ลงเสียงหนัก
3. ฐานข้อมูล Nontri ที่ท้ายบรรทัดจะมีคำว่า Nontri

ขออวยพรให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการศึกษาภาษาอังกฤษนะครับ

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

7 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะ เวปนี้ดีมากๆเลย จะตั้งใจท่องนะคะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

แอดไว้นานแล้ว วันี้ได้อ่านจริงๆจังๆ ดีมากๆๆครับ ผมจะตั้งใจ ขอบคุณมากครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

บล็อกนี้เยี่ยมมากค่ะ ขอบคุณเจ้าของบล็อกผู้ใจดีมากนะคะ ที่ช่วยให้ความรู้ จะตั้งใจสูบ เอ๊ย หาความรู้ทุกหัวข้อค่ะ ( 555+)

18 / 3 / 51
ชโลทรา

noo-kul กล่าวว่า...

โหลดไม่ได้อะคะ...ฮือๆๆ..อยากได้

pipat - blogger กล่าวว่า...

ตอนนี้ดาวน์โหลดได้แล้วครับ
พิพัฒน์

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เพิ่งเจอเว็บหน้านี้ มีประโยชน์มากทีเดียวค่ะ เป็นคลังความรู้ได้ดีเยี่ยมค่ะ ขอบคุณนะคะ

Anue กล่าวว่า...

ลิ้งค์ใช้ไม่ได้แล้วนะครับ