วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

[289]การรู้ศัพท์เป็นหัวขบวนของการศึกษาภาษาอังกฤษ

สวัสดีครับ
เราทุกคนรู้อยู่ว่า ในการเรียนภาษาไม่ว่าภาษาอะไรก็ตาม เราเรียนอยู่ 4 อย่าง คือ ฟัง – พูด – อ่าน – เขียน และถ้าถามว่าอะไรล่ะที่เป็นฐานของการฟังพูดอ่านเขียนนี้ ถ้าให้ผมตอบตามประสาผม ผมก็จะตอบว่า ฐานของการฟัง – พูด – อ่าน – เขียน มีอยู่ 2 อย่าง คือ ศัพท์กับไวยากรณ์ และถ้าถามต่อไปอีกว่า ระหว่างศัพท์กับไวยากรณ์ อะไรสำคัญกว่า ข้อนี้ตอบได้โดยไม่ต้องคิดเลย ศัพท์สำคัญกว่าแน่ ๆ และสำคัญกว่าหลายเท่าด้วย ถ้าศัพท์สำคัญเท่าลูกฟุตบอล ไวยากรณ์ก็จะโตประมาณหัวเข็มหมุด

เรื่องการเรียนรู้ศัพท์มิใช่การเปิดดิกชันนารีท่องเอา ๆ การรู้ศัพท์แปลว่า ‘จำได้และใช้เป็น’ มันเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการฟัง – พูด – อ่าน – เขียน เด็ก ๆทารกฟังแม่พูดและก็พูดกับแม่ พอโตขึ้นเข้าโรงเรียนก็อ่านหนังสือและเขียนหนังสือตามที่ครูสอน จึงเห็นได้ชัดว่า ‘ศัพท์’ มิได้ลอยอยู่ในอวกาศโดด ๆ แต่ศัพท์จะสัมพันธ์กับการฟัง-พูด-อ่าน-เขียน อย่างแนบแน่น ยิ่งฝึกฟัง-พูด-อ่าน-เขียนมากเท่าใด ก็จะยิ่งรู้ศัพท์มากเท่านั้น ยิ่งรู้ศัพท์มากเท่าไร ก็จะยิ่งสามารถฟัง-พูด-อ่าน-เขียนได้ดีเท่านั้น ผมเคยอ่านงานวิจัยของฝรั่งนานมาแล้วซึ่งค้นพบว่า คนที่ประสบความสำเร็จในงานอาชีพสูงกว่าคนทั่วไป โดยเฉลี่ยมักจะรู้ศัพท์มากกว่าคนทั่วไป (คือทั้งจำศัพท์ได้และใช้ศัพท์เป็น)

ขอกลับมายังคำบ่น classic ที่ได้ยินกันโดยทั่วไปว่า คนไทยเรียนภาษาอังกฤษเป็นสิบปีก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แล้วเราก็บอกว่า ก็สอนกันแต่แกรมมาร์ ไม่มีโอกาสได้ฝึกสนทนา(กับฝรั่ง) มันจะพูดได้ยังไงล่ะ นี่ก็คือสรุปว่า เราไม่ได้ฝึกฟังและพูดอย่างเพียงพอ แต่ผมขอถามว่า แล้วอีก 2 อย่างคืออ่านกับเขียนล่ะ เราได้ฝึกฝนอย่างมากเพียงพอหรือเปล่า ถ้าตอบอย่างซื่อสัตย์ก็ต้องบอกว่า ก็ไม่ได้อ่านมากมายอะไร ส่วนการเขียนยิ่งไม่ต้องพูดถึง ยิ่งน้อยลงไปอีก ก็เป็นอันว่า ทั้งฟัง – พูด – อ่าน – เขียน คนไทยเรียนภาษาอังกฤษมาเป็นสิบปี ใน 4 อย่างนี้ ก็ไม่ได้ฝึกให้ชำนาญสักอย่าง แต่เรากลับไปให้ความสำคัญกับแกรมมาร์ซึ่งมีความสำคัญน้อยที่สุด เพราะจริง ๆ แล้ว แกรมมาร์หรือหลักภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไรก็ตาม มันมาพร้อมกับการฟัง – พูด – อ่าน – เขียน คนไทยฟังพูดอ่านเขียนภาษาไทยได้ถูกต้องโดยไม่ต้องเรียนหลักภาษาไทย หรือเรียนนิด ๆ หน่อย ๆ ก็พอ เหมือนกับที่ฝรั่งไม่ต้องเรียนแกรมมาร์ก็ใช้ภาษาของเขาได้โดยไม่ผิดแกรมมาร์

แต่เมื่อพูดว่าเราต้องให้ความสำคัญกับการฟัง – พูด – อ่าน – เขียน มากกว่าแกรมมาร์ ก็แปลว่าเราจะต้องเรียนรู้ศัพท์ คือจำศัพท์ได้และใช้ศัพท์เป็นไปพร้อมๆ กับการฝึกฝน 4 ทักษะนี้ ซึ่งหมายความว่า สมมุติมีศัพท์พื้นฐานอยู่ 10 คำ กว่าที่เด็กหัดพูดคนหนึ่งจะฟัง 10 คำนี้จนจำได้ – พูดได้ – และใช้เป็น เขาจะต้องได้ฟังและหัดขยับปากพูดตามเป็นร้อย ๆ พัน ๆ ครั้ง จึงจะสามารถพูดได้ และพูดได้อย่างที่อยากจะพูด

แต่ที่เราบอกว่าเด็กต้องฟังเป็นร้อย ๆ พัน ๆ ครั้งนั้น เด็กคนนั้นไม่ได้ฟังเฉพาะเพียงคำศัพท์คำนั้นคำเดียว แต่เป็นศัพท์คำนั้นที่ผสมกับคำอื่น อาจจะเป็นวลีสั้น ๆ หรือประโยคสั้น ๆ หรือยาว ๆ ก็แล้วแต่ แต่โดยสรุปก็คือ เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์และตัวอย่างการใช้คำศัพท์ในรูปวลีหรือประโยคไปพร้อม ๆ กัน นาน ๆ เข้า เด็กก็จะฟังศัพท์เข้าใจ จำศัพท์ได้ และใช้ศัพท์เป็น

ย้อนกลับมาเมืองไทยอีกที เมื่อเราต้องยอมรับว่าเราไม่มีครูสอนภาษาอังกฤษที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว แต่เรื่องอ่านกับเขียนล่ะเรามีครูที่เก่ง ๆ ไหม (ท่านตอบเอาเองก็ได้ครับ) และเด็กไทยเรามีโอกาสมาก ๆ ไหมในการฝึกอ่านและเขียนภาษาอังกฤษ

ผมขอย้อนไปสมัยก่อนที่เรายังไม่มีครูที่จบมาจากเมืองนอกมาก ๆ สมัยนั้นบางวิชาในระดับมัธยม และหลายวิชาในระดับมหาวิทยาลัย นักเรียนนักศึกษาต้องใช้ตำรา หรือ text ที่เป็นภาษาอังกฤษ นักเรียนนักศึกษาสมัยนั้นจึงอ่านเก่งและเขียนเก่งกว่าเด็กสมัยนี้ซึ่งโชคดี (หรือโชคร้ายก็ไม่ทราบ) ที่ทุกวิชามีตำราภาษาไทยให้เรียน หรือไม่ก็มีอาจารย์เก่ง ๆ แปลตำราภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย นักเรียนนักศึกษาของเราก็เลยไม่ต้องลำบากที่จะต้องขวนขวายอ่านให้รู้เรื่อง ยิ่งเรื่องการเขียนยิ่งไม่ต้องพูดถึง

แต่ท่านสังเกตไหมว่า บางวิชาในมหาวิทยาลัยในสมัยนี้ที่ยังต้องใช้ตำราภาษาอังกฤษอยู่บ้าง เช่นคณะแพทย์ หรือวิศวะบางวิชา นักศึกษาหรือบัณฑิตจากคณะเหล่านี้จะเก่งภาษาอังกฤษมากกว่านักศึกษาคณะอื่น ๆ เพราะความจริง ก็คือว่า แม้ทักษะทั้ง 4 อย่าง คือ ฟัง – พูด – อ่าน – เขียน จะดูแยกกัน แต่จริง ๆ แล้วมันก็สัมพันธ์กัน ถ้าท่านเก่งอย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็จะจูงให้อีก 4 อย่างเก่งตามไปด้วย ไม่เร็วก็ช้า ไม่มากก็น้อย แต่ถ้าเล่นไม่ฝึกอะไรให้เก่งสักอย่าง ไม่มีอะไรเป็นหัวขบานนำหน้า - English train ของคนไทยก็จอดนิ่งอยู่บนชานชาลานั่นแหละ ไม่วิ่งไปไหนซะที ผมว่านี่น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่หลาย ๆ ประเทศในเอเชียที่จนกว่าประเทศไทย และนักเรียนนักศึกษาต้องเข็นตัวเองให้อ่าน text ที่เอามาจากเมืองนอกให้รู้เรื่อง จึงเก่งภาษาอังกฤษมากกว่านักเรียนไทย

ไม่ต้องไปมองสูงขนาดนั้นก็ได้ครับ เอาแค่อินโดนีเซียและเวียดนาม เขาก็เหมือนเมืองไทยนี่แหละที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการหรือภาษาที่สองเหมือนมาเลเซียและฟิลิปปินส์ แต่เขาใช้อักษรโรมันในการขียนภาษาของเขา ไม่ต้องอาศัยนักวิชาการมาบอกเราก็พอจะเดาได้ว่า ในอนาคตถ้า 2 ประเทศนี้จะอาจริงเรื่องภาษาอังกฤษ เขาก็จะไปไกลกว่าเมืองไทยมากกว่าขณะนี้อีกมากในเรื่องทักษะภาษาอังกฤษ เพราะอย่างน้อยเขาก็คุ้นเคยกับตัวอักษรที่ใช้เขียนภาษาอังกฤษมากกว่าเรา (อย่าตีความไปไกลถึงขนาดว่า ผมอยากให้เมืองไทยในอดีตเป็นเมืองขึ้นอังกฤษนะครับ มิได้หมายความเช่นนั้นเลย)

เอาละ ที่พูดมาทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของอดีตที่ผมต้องการสรุปสั้น ๆ ว่า ขณะนี้ ไม่ว่าเราจะอายุมากหรืออายุน้อย ถ้าเราเห็นว่าภาษาอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญ เราก็ต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะคลุกคลีตีโมงใกล้ชิดสนิทสนมกับภาษาอังกฤษให้มากที่สุด ทั้งเรื่องฟัง – พูด – อ่าน – เขียน และถ้าเรามีโอกาสน้อยที่จะพูดและเขียน เราก็ต้องใช้โอกาสที่มีอยู่คลุกคลีกับอีก 2 ทักษะที่เหลืออยู่ คือ อ่านและฟัง ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และขอให้ท่านเชื่อผมอย่างหนึ่งเถอะครับ ถ้าท่านอ่านและฟังให้มาก ๆ พอเวลานั้นมาถึงที่ท่านจะต้องพูดหรือเขียน ท่านจะไม่ลำบากมากนัก เพราะทักษะการฟังและอ่านที่ท่านตุนไว้ จะเป็นหัวขบวนลากให้การพูดและการเขียนเคลื่อนไปตามรางของมันได้ และแม้ผมจะบอกไว้ก่อนหน้านี้ว่า ภาษาอังกฤษถ้าเก่งทักษะใดทักษะหนึ่งก็จะจูงให้อีก 3 ทักษะเก่งตามไปด้วยนั้น อันนี้จริงครับ และถ้าก้มมองให้ใกล้ลงไปอีกนิด การฟังนั้นคือหัวขบวนของการพูด และการอ่านคือหัวขบวนของการเขียน ถ้ามองให้สูงขึ้นไปก็จะมีตัวอย่างให้เห็นเยอะแยะ นักพูดที่เก่ง ๆ ต้องเดินสายไปฟังนักพูดรุ่นพี่มาก่อนเยอะ ๆ และนักเขียนที่เก่ง ๆ ที่จะไม่เป็นนักอ่านนั้นไม่มีหรอกครับ

ผมขออนุญาตยกตัวอย่างตัวเองแล้วกันครับ อย่าหาว่ายกตัวเองเลยนะครับเพราะถ้ายกตัวอย่างคนอื่นมันเห็นไม่ชัด ผมเคยเล่าไว้ 2 – 3 ครั้งใน blog นี้ว่า ตั้งแต่เรียนชั้นประถมจนจบมหาวิทยาลัยผมไม่เลยได้เรียนกับครูฝรั่งแม้แต่คนเดียว และ 10 ปีในช่วงทำงานหลังเรียนจบ ผมแทบไม่เคยฟัง – พูด – เขียน ภาษาอังกฤษแม้แต่ประโยคเดียวเพราะไม่มีโอกาส และสมัยนั้นก็ไม่มีสื่อการเรียนให้ผมหามาฝึกได้ง่าย ๆเหมือนสมัยนี้ แต่ผมอ่าน Bangkok Post หรือ The Nation แทบทุกวัน หลังจากนั้นผมก็ย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพ ในช่วงแรก ๆ ก็มีปัญหาในการฟัง – พูด – เขียน แต่ต้องขอโม้สักนิดนะครับ ผมปรับตัวและเรียนรู้ได้เร็วมาก ในการฟัง – พูด และเขียน ในเรื่องการฟังผมก็ฝึกแค่สำเนียง เพราะศัพท์และสำนวนผมตุนไว้จากการอ่านมาเนิ่นนานแล้ว ในเรื่องการพูด หนังสือพิมพ์หรือหนังสือ story ง่าย ๆ ที่ผมเคยอ่านบ่อย ๆ ผมก็เอาบทสนทนาในนั้นมาปรับใช้ได้ แต่ถ้าเป็นการพูดบรรยายยิ่งสบายมากเลยครับ เพราะผมปรับมาจากภาษาหนังสือพิมพ์ได้ ส่วนการเขียนอันนี้ยากหน่อย แต่ก็ไม่ยากเข็ญจนเกินไปนัก ก็สำนวนที่เคยอ่านสิ่งที่คนอื่นเขาเขียนจากหนังสือพิมพ์ที่อ่านมานานนั้นสามารถเอามาปรับใช้เป็นสำนวนเขียนของตัวเองได้ ทุกวันนี้เมื่อพูดภาษาอังกฤษ ผมแทบไม่เคยเจอปัญหาต้องหยุดพูดเพราะนึกศัพท์ไม่ออก ผมสามารถแก้ปัญหาโดยเอาศัพท์ง่าย ๆ มาอธิบายเรื่องยาก ๆ ได้ ทั้งหมดทั้งสิ้นเพราะมีทักษะการอ่านที่ตุนมานับสิบปีเป็นฐาน

ผมพูดมาซะยาวและอยากจะสรุปชั้นแรกไว้ก่อนว่า อาจจะมีหลายท่านที่ไม่ชอบอ่าน ท่านก็ต้องหาทางให้ตัวเองได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะอื่น ๆ คือ ฟัง หรือพูด หรือเขียน ให้ทักษะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างเป็นทักษะนำขบวน เหมือนรถไฟนั่นแหละครับ ถ้าไม่มีหัวรถจักร รถไฟทั้งขบวนก็เคลื่อนที่ไปไหนไม่ได้ จอดอยู่ที่ชานชาลานั่นแหละ

ท่านจะเห็นได้ว่าใน blog นี้ ผมเน้นเรื่องคำศัพท์มากเหลือเกิน แต่ไม่ใช่การเรียนรู้เฉพาะคำศัพท์โดด ๆ ทว่าเป็นการเรียนรู้คำศัพท์ประกอบตัวอย่าง อาจจะเป็นวลีตัวอย่างหรือประโยคตัวอย่างก็ได้ ตัวอย่างเหล่านี้ช่วยให้เรา
(1)จำความหมายของศัพท์ได้
(2)ใช้ศัพท์เป็นในการพูดและเขียน
(3) เรียนรู้และคุ้นเคยกับแกรมมาร์ที่มาพร้อมกับตัวอย่างนั้น ๆ เป็นการเรียนรู้แกรมมาร์ด้วยวิธีที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งไม่น่าเบื่อ เพราะแม้เราอาจจะอธิบายแกรมมาร์ไม่ได้ แต่ด้วยวิธีนี้เราก็มักจะใช้แกรมาร์ไม่ค่อยผิด

ฉะนั้น ใน blog นี้จึงมีหลายลิงค์ที่ผมชวนให้ท่านศึกษาคำศัพท์พร้อมตัวอย่าง เพราะตัวอย่างคือหัวใจของการศึกษาคำศัพท์ ยิ่งรู้เห็นตัวอย่างการใช้คำศัพท์มากเท่าไร ยิ่งจำได้ใช้เป็นมากเท่านั้น

ท่านสามารถศึกษาได้ตามลิงค์ข้างล่างนี้ครับ
[134]ใช้ดิก Babylon.com(+ดิก Loy มีประโยคตัวอย่าง)
[273]ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ได้ จากประโยคตัวอย่าง
[287] ทำสมุดท่องศัพท์ 1500 คำของ VOA
[27] ศึกษาศัพท์อย่างสมบูรณ์:เข้าใจ-จำได้-ใช้เป็น
[60] เปิดประตูเข้าไปดูคลังศัพท์ของฝรั่งทางเน็ต

และวันนี้ผมเจออีก 1 เว็บ คือเว็บนี้
http://www.dicts.info/examples.php
เป็นเว็บดิกชันนารีตัวอย่าง คือเมื่อท่านพิมพ์คำอะไรก็ตามลงไป เขาจะไม่โชว์ความหมายของคำศัพท์หรืออะไรทั้งนั้น แต่จะโชว์ตัวอย่างล้วน ๆ หลาย ๆ ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างที่ใช้ศัพท์ง่าย ๆ ใช้โครงสร้างประโยคง่าย ๆ ท่านสามารถพิมพ์คำง่าย ๆ ที่ท่านรู้ความหมายดีแล้วลงไป และศึกษาตัวอย่างที่เว็บนี้แสดง และอย่างที่ผมบอกแล้วว่ามักจะเป็นตัวอย่างง่าย ๆ ท่านจึงสามารถเอาตัวอย่างนี้ไปประยุกต์หรือดัดแปลงเพื่อใช้ในการพูดหรือการเจียนได้อย่างไม่ลำบากนัก แต่ถ้าบางทีมีประโยคหรือวลีตัวอย่างที่ยากและง่ายปนกัน ท่านจะเลือกศึกษาประโยคง่าย ๆ ก่อนก็ได้

หรือถ้าท่านต้องการหานิยาม หรือ definition จากดิกชันนารีในเว็บเดียวกันนี้ ก็ไปที่ลิงค์นี้ครับ
http://www.dicts.info/define.php

ดึกแล้ว ขอนอนก่อนละครับ คืนนี้ผมนอนหลับสบายแน่ เพราะได้พูดสิ่งที่อยากพูดไปจนเกลี้ยงแล้ว

สวัสดีครับ – พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com

ลิงค์แนะนำ
[135]ทำ Test-เล่น Game(ทวนศัพท์เก่า-เพิ่มศัพท์ใหม่)